หากมาเยือนเมืองแพร่แล้วไม่ได้นมัสการพระธาตุช่อแฮ ก็เหมือนไม่ได้มาเยือนเมืองแพร่
คำกล่าวที่ได้ยินกันจนชินหู แต่ส่วนใหญ่ใครได้ที่มาเยือนเมืองแพร่ ก็เตรียมตัวมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า จะต้องไม่พลาดเข้าไปกราบสักการะพระธาตุช่อแฮที่มีอายุยาวนานนับพันปี ภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ในส่วนของอุโบสถที่มีความงดงามมาก ภายในมี “หลวงพ่อช่อแฮ” เป็นพระประธานอายุหลายร้อยปี ผสมผสานศิลปะล้านนา เชียงแสน และ สุโขทัย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นหลังจากสร้างองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว
สำหรับชื่อพระธาตุช่อแฮนั้นมีความเชื่อว่า มาจากผ้าแพรชั้นดีที่มาผูกบูชาพระธาตุ คำว่าช่อแฮ จึงหมายถึง “ช่อแพร” นอกจากนั้นยังพบว่าการเขียนเป็นอักษรธรรมว่า “ช่อแฮ” และ “ช่อแร” ซึ่งอ่านว่า “ช่อแฮ” ทั้งสองอย่างนั้นมีความหมายว่า “ธงสามเหลี่ยมทำด้วยแพร”
พระโกศัยเจติยารักษ์ รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ ให้ความรู้ว่า คนเมืองแพร่ต่างเชื่อถือว่า ต้องมากราบสักการะพระธาตุช่อแฮอย่างน้อยปีละครั้ง ในทุกปีทางจังหวัดแพร่จึงมีการจัดงาน “ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮเมืองแพร่แห่ตุงหลวง” ซึ่งเป็นงานบุญใหญ่ประจำจังหวัด ตามจันทรคติจะจัดในวันขึ้น 9 ค่ำเดือน 6 เหนือ เดือน 4 ไต้ของทุกปี โดยปีนี้มีการจัดงานในวันที่ 2-8 มีนาคม 2563 โดยจะมีพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศเข้ามาทำบุญ
และอีกมุมหนึ่งของความเชื่อความศรัทธาก็ได้ระบุว่า พระธาตุช่อแฮ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดปีขาลของชาวล้านนา บรรดาคนเกิดปีขาลจากทั่วประเทศต่างเดินทางมาทำสักการะเพื่อเป็นสิริมงคล โดยมีความเชื่อว่า มากราบพระธาตุช่อแฮเพื่อความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และยังมีการจัดงาน “รวมพลคนปีขาล นมัสการพระธาตุช่อแฮ” ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อปี 2553 และจะจัดงานขึ้นอีกครั้งเมื่อปีนักษัตรหมุนเวียนมาในปี 2565
“พระธาตุช่อแฮ” จึงเป็นเหตุผลหลักของผู้มาเยือนเมืองแพร่ แต่เมื่อได้เข้ามากราบสักการะพระธาตุช่อแฮแล้ว ในเมืองแพร่ยังมีหลากเรื่องราวที่น่าสนใจ พร้อมให้เข้าเที่ยวชมอีกมากมาย ทั้งจุดชมวิวเติมพลังธรรมชาติ กิจกรรมเติมพลังไอเดีย พร้อมซึมซับความงดงามของสถาปัตยกรรมโบราณ และพลาดไม่ได้กับอาหารอร่อยเอกลักษณ์ของเมืองแพร่
ภายใต้บรรยากาศอันเงียบสงบ แพร่ก็มีความครบรสของการท่องเที่ยว