การพนัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่องทางออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญและร่วมช่วยกันลดปัญหาและผลกระทบ
จากการสำรวจของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2561 ในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 3 ทั่วประเทศ พบว่าบุคคลและสภาพแวดล้อมของเด็กเกี่ยวข้องกับการพนันเป็นจำนวนมาก โดยเด็กร้อยละ 91.8 มีคนรู้จักเล่นพนัน 3 อันดับแรก คือ คนในครอบครัว คนในชุมชน และญาติ ในจำนวนนี้มากกว่า 1 ใน 4 บอกว่ารู้สึกอยากเล่นพนันเมื่อเห็นผู้ใหญ่เล่นพนัน ส่วนในโลกสื่อสังคมออนไลน์ เด็กร้อยละ 72.1 เคยพบเห็นโฆษณาเชิญชวนให้เล่นพนัน โดยร้อยละ 14.6 ตามไปเล่นพนันในช่องทางที่เชิญชวน จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เด็กจำนวนมากถึงร้อยละ 51.8 เคยเล่นการพนันโดยใช้เงินเดิมพัน
ผลสำรวจดังกล่าวยังพบว่า เด็กเริ่มเล่นพนันครั้งแรกอายุน้อยที่สุด 6 ปี ทั้งชายและหญิง โดยมากกว่าครึ่งเริ่มเล่นพนันระหว่างอายุ 10-12 ปี สำหรับประเภทการพนันที่เด็กนิยมเล่นคือ น้ำเต้าปูปลา เล่นไพ่กินเงิน บิงโกกินเงิน ไฮโล ลอตเตอรี่ ส่วนพนันบอลกินเงินมาเป็นอันดับที่ 6 ผู้ชายเริ่มเล่นจากไพ่ ผู้หญิงเริ่มที่น้ำเต้าปูปลา
จากสถานการณ์ดังกล่าว สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยนอร์ท กรุงเทพ และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) ภายใต้การสนับสนุนของโครงการพัฒนาการสื่อสารสาธารณะของภาคีเครือข่ายลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน “มหกรรมสื่อสร้างสรรค์ รู้เท่าทันพนันรอบตัว”
โดยมีกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับการพนัน และการประกวดสื่อรณรงค์ ทั้งประเภทภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้มีความเข้าใจและตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบด้านต่างๆ จากการเล่นการพนันและการพนันออนไลน์ โดยมีทีมนักศึกษาส่งผลงานสื่อรณรงค์ประเภทภาพนิ่ง (อินโฟกราฟิก) 33 ผลงาน และประเภทภาพเคลื่อนไหว (Video/ Animation) 15 ผลงาน
ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทภาพนิ่ง ได้แก่ ทีมมีโอ โดยนางสาวปฐมาวดี ราชดา (ซี) และ นางสาวประภัสสร ขันปัญญา (พิม) ประเภทภาพเคลื่อนไหว ได้แก่ ทีม EPF ประกอบด้วย นายณัฐวัตน์. บุญมี (ปลื้ม) นายเอกราช รูปงาม (เอก) และนายนิธิศ สิริพรรณมงคล(ฟิว) ทั้งหมดเป็นนักศึกษา ปวส. 1 สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ
แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธีมอบรางวัล กล่าวว่า ปัญหาและผลกระทบจากการเล่นพนันออนไลน์ไม่ใช่แค่เรื่องของการสูญเสียทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้พฤติกรรมติดการพนันเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง เรียกว่า “โรคติดพนัน” หรือ Pathological Gambling ซึ่งผู้เล่นมีความทุกข์จากการเล่นพนัน แต่ก็หยุดไม่ได้ ยังคงต้องเล่นต่อไป และการพนันยังยั่วยุให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกได้มาก ไม่ว่าผู้เล่นจะอยู่ในสถานการณ์ที่ได้หรือเสีย ดังนั้นเด็กและเยาวชนจึงเป็นช่วงวัยที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะติดการพนันได้ง่าย แต่ถอนตัวได้ยาก
ทั้งนี้ มีหลายสาเหตุที่วัยรุ่นติดการพนันได้ง่าย เช่น มีโฆษณาเชิญชวนให้เล่นพนันมากมายบนโลกอินเตอร์เน็ต เพียงแค่คลิกก็สามารถเข้าไปใช้บริการได้อย่างง่ายดาย, เพื่อนแนะนำให้เล่น ตามธรรมชาติของวัยรุ่นที่อยากรู้อยากลองหรือชอบเสี่ยงอยู่แล้ว, ร้อนเงิน หรือมีความต้องการใช้จ่ายมาก อยากได้ของตามสมัยนิยมสูง คิดว่าการพนันจะทำให้ได้เงินง่าย และ ปัญหาครอบครัว ต้องการประชดพ่อแม่ หนีออกนอกบ้าน หรืออยากหาเงินใช้เอง บางคนหาทางออกด้วยการไปเล่นพนันทำให้ติดหนี้
“ดังนั้น ปัญหาการติดการพนันของเด็กและเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดูแลแก้ไข โดยควรทำความเข้าใจกับเด็กและเยาวชน เพราะการพนันออนไลน์อยู่รอบตัวของเด็กและเยาวชน สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา จึงต้องสื่อสารเชิงบวก โดยสร้างการรู้เท่าทัน ช่วยให้มีภูมิคุ้มกันตัวเอง” แพทย์หญิงมธุรดา กล่าว