ทุกที่มีเรื่องเล่า ทุกแห่งมีเรื่องราว นี่อาจจะเป็นนิยามหนึ่งของการเที่ยวในเมืองไทย ไม่ว่าจะไปตรงจุดไหน ก็มี Story
เช่นเดียวกับที่ วัดหนองแดง อ.เชียงกลาง ที่เต็มไปด้วยเรื่องราว เรื่องเล่า ที่น่าสนใจเต็มไปหมด
เริ่มจากตัววัด ซึ่งเชื่อว่า กว่า 1,000 ปีที่ผ่านมา ชาวไทลื้อได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในหมู่บ้านแห่งนี้ และเป็นที่ทราบกันดีว่า ชาวไทลื้อเป็นคนชอบทำบุญและมีจิตศรัทธาต่อพุทธศาสนา ไม่ว่าจะไปอยู่บ้านไหนเมืองไหน ก็จะมีการก่อสร้างวัดเพื่อเป็นศูนย์รวมใจของคนในหมู่บ้าน เช่นเดียวกับที่วัดหนองแดงแห่งนี้ เดิมทีมีเพียงวิหารไม้หลังคาหญ้าแฝก และได้รับการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง จนปี พ.ศ.2330 ก็ได้รับใบอนุญาตสร้างวัดอย่างเป็นทางการ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
พระครูพิบูลนันทวิทย์ เจ้าอาวาสวัดหนองแดง เล่าว่า วัดแห่งนี้มีตำนานที่มาอย่างยาวนาน ผ่านเรื่องเล่าที่ส่งต่อกันมา นอกจากตัววิหารไทลื้อจากวัสดุและช่างฝีมือท้องถิ่นที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ เมื่อเข้าไปในบริเวณวัดจะเจอสวนป่าอันร่มรื่น มีต้นโพธิ์อายุยาวนานหลายร้อยปี ชาวบ้านเชื่อว่าในสมัยก่อนชาวไทลื้อได้นำสมบัติมาฝังไว้บริเวณนี้ แล้วมีการปลูกต้นโพธิ์ไว้ ใครมาขุดก็มีต้นโพธิ์แตกรากแตกกิ่งกั้นขวางเอาไว้ ทุกวันนี้ก็ยังเชื่อว่าสมบัติเหล่านั้นยังอยู่ใต้ผืนดินแห่งนี้
เมื่อเดินเข้าไปด้านหลังวัด จะพบกับการจำลองบ้านไทลื้อโบราณ แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ใกล้ๆ กัน คือจุดที่ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวได้มาก นั่นคือ สะพานบุญ 700 ปี ซึ่งมีตำนานอันน่าสะพรึง
จากการเล่าขานต่อกันมา บริเวณหนองน้ำใต้สะพานแห่งนี้ เคยเป็นเส้นทางที่แม่น้ำน่านไหลผ่าน แต่เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้นหลายครั้ง ทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยนไป เหลือเพียงหนองน้ำ สมัยก่อนใช้เป็นที่ทิ้งร่างคนตาย ทำให้มีเลือดนองไปทั่ว เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน “บ้านหนองแดง” เดิมเรียกกันว่า “สะพานแป๊ะ” และเปลี่ยนมาเป็น “สะพานบุญ” และมีการทำพิธีอุทิศส่วนบุญให้วิญญาณคนตายซึ่งเชื่อว่าเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ
แต่ไม่ว่าเรื่องราวที่มาจะเป็นเช่นไร ความเชื่อความศรัทธาก็ยังคงอยู่ไม่เสื่อมคลาย วันนี้วัดหนองแดงเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในละแวก เป็นวัดที่มีความเงียบสงบ ร่มเย็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ท่านเจ้าอาวาสมุ่งหวังว่า อยากให้ทุกคนที่เข้ามาช่วยกันดูแลรักษาไว้ตราบนานเท่านาน
หลายคนอาจจะเคยได้ยินข่าวของวัดหนองแดง เนื่องจากมีพันธุ์ไม้หายากอยู่ในวัดแห่งนี้ พระครูพิบูลนันทวิทย์ เล่าว่า เรื่องนี้ถูกค้นพบเมื่อ 17 ปีก่อน ด้วยสภาพป่าครึ้มในบริเวณนี้ ประกอบกับทางวัดมีความประสงค์จะตัดถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับชาวบ้าน จึงถางป่ารกและเผาทิ้งไป ผ่านไปราว 2 ปีกว่า ก็เจอกับต้นไม้ที่มีฝักยาวเหมือนลำเทียนสีเหลืองอร่าม จึงตั้งชื่อว่า “ต้นเทียนพระพุทธเจ้า” เจ้าหน้าที่การเกษตรที่เคยเข้ามาที่วัด บอกว่ายังไม่เคยเห็นที่ไหน จึงถือเป็นต้นเทียนพระพุทธเจ้าหนึ่งเดียวในเมืองน่าน
และนี่ก็คือเรื่องเล่า เรื่องราว ที่รอให้เราเข้าไปค้นหา