ผลงานวิจัยข้าวไร่สามเดือน เพิ่มแหล่งความมั่นคงทางอาหารออแกนิกส์

137

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ชูผลงานวิจัยข้าวไร่สามเดือน เพิ่มแหล่งความมั่นคงทางอาหารออแกนิกส์ หนึ่งใน 6 โครงการ ที่นำเสนอในงาน SB Chantaboon 2020

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ร่วมนำผลงานวิจัย 6 โครงการ ร่วมนำเสนอในงานสัมมนาด้านการสร้างแบรนด์ระดับโลก SB Chantaboon 2020 Moonshots to Dreamfood ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี

ผศ.ดร.ร่วมจิตร นกเขา หัวหน้าโครงการข้าวไร่ เปิดเผยว่า ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับข้าวไร่มากว่า 15 ปี ทั้งทำการสำรวจพันธุ์ รวบรวมพันธุ์ อนุรักษ์พันธุ์ คัดเลือกพันธุ์บริสุทธิ์ โดยในปัจจุบันเราได้นำข้าวไร่ที่เราสำรวจได้มาเป็นพันธุ์ข้าวไร่ชุมพร ที่มีลักษณะที่ดี 11 พันธุ์ และได้นำไปจดทะเบียนพันธุ์กับกรมวิชาการเกษตร ซึ่งข้าวไร่ทั้ง 11 พันธุ์ นั้นทุกพันธุ์มีคุณค่าทางอาหารสูง และยังได้ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั้ง 4 ภาค ของประเทศไทย ซึ่งพันธ์ข้าวไร่ของเรายังเป็นที่นิยมของเกษตรกรและยังให้ความมั่นคงทางอาหารของชุมชน สาเหตุที่ทำวิจัยข้าวไร่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เพราะมีพื้นที่นาน้อยและพื้นที่ส่วนใหญ่ก็จะไปปลูกยางพาราและปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้พื้นที่ภาคใต้มีข้าวบริโภคไม่เพียงพอ ต้องนำข้าวจากภาคอื่นมาบริโภค

” ข้าวไร่นี้จึงเป็นพันธุกรรมพืชที่มีความสำคัญเนื่องสามารถปลูกได้ในสภาพพื้นที่ดอนอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติและสามารถปลูกได้ทุกสภาพพื้นที่ และต่อยอดในการนำข้าวที่มีลักษณะเด่นมาทำเป็นแป้งสำเร็จรูปของข้าวไร่พันธุ์สามเดือน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ทั้งปี จะทำให้เกษตรนำพันธุ์ข้าวไร่สำเร็จรูปไปพัฒนาต่อยอดไปทำเป็นขนมไทย เส้นหมี่ เส้นก๋วยเตี๋ยว ทดแทนแป้งข้าวสาลีได้ ซึ่งข้าวไร่พันธุ์สามเดือนนั้นเมื่อนำไปประกอบอาหารจะพบว่า มีธาตุเหล็กสูง และมีสารอาหารต้านอนุมูลอิสระสูงด้วย ฉะนั้นทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดพันธุ์ข้าวไร่แต่ละพันธุ์มาพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไป” ผศ.ดร.ร่วมจิตร กล่าว

นอกจากงานวิจัยข้าวไร่ สถาบัน ฯ ยังมีโครงการวิจัยการพัฒนาภาชนะชีวภาพจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ใน พื้นที่จังหวัดชุมพร โดยนำเส้นใยที่เหลือทิ้ง มาผสมร่วมกับพลาสติดชีวภาพขึ้นรูป กลายเป็นผลิตภัณฑ์ภาชนะบรรจุภัณฑ์ชีวะภาพ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขึ้นกระบวนการมาตรฐาน ต่างๆ และยังเป็นการผลิตภาชนะชีวภาพที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ ช่วยลดปริมาณขยะด้วยการนำกลับมาใช้ใหม่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างมีประสิทธิภาพ และลดมลภาวะจากขยะเหลือทิ้ง นำไปสู่การบริโภคอย่างยั่งยืน