อาหารเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน นวัตกรรมข้าวฝีมือนักวิจัย ม.มหิดล

44

จากสถิติของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ระหว่างปี 2554 – 2560 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 21 ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของอุบัติการณ์ของโรคเบาหวานที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนรัฐต้องมีการรณรงค์กันอย่างจริงจังเพื่อลดจำนวนอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานกันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

เนื่องจาก “ข้าว” เป็นพืชอาหารที่สำคัญชนิดหนึ่งของโลก และนับเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทมากที่สุดในการส่งออกข้าว ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่าไทยส่งออกข้าวเกือบ 4 แสนตันในปี 2562 ที่ผ่านมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจาก สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) – สวก. ได้ริเริ่มโครงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบหลักเพื่อทดแทนผลิตภัณฑ์นำเข้าจากต่างประเทศ โดยได้เล่าถึงที่มาของโครงการวิจัยว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วย และมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนผู้ป่วยหรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในตลาดส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศและมีราคาแพง ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องบริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายสูง ดังจะเห็นได้ว่าการบริโภคผลิตภัณฑ์ 1 มื้ออาหารต้องมีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 บาทขึ้นไป เฉลี่ยต่อวันที่ 5 มื้ออาหาร คือประมาณ 300 บาทต่อวัน ด้วยเหตุนี้จึงมีการวิจัยถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ให้สามารถผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในประเทศไทย จากข้าวที่เราปลูกเองในประเทศไทยมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยการสนับสนุนข้อมูลจาก กรมการข้าว กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้ได้ข้าวที่เหมาะสมต่อการนำมาทำผลิตภัณฑ์

ที่ผ่านมา อาหารทางการแพทย์ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนคาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่จะใช้แป้งดัดแปลงจากข้าวโพด หรือมันสำปะหลัง และจะใช้โปรตีนจากน้ำนม ยังไม่พบว่ามีการใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อีกทั้งเป็นความต้องการของผู้ป่วยคนไทยที่ชอบบริโภคข้าวมากกว่าอาหารทางการแพทย์ที่มีส่วนผสมของน้ำนม ข้อดีจากการใช้ข้าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตก็คือ นอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังเป็นการทำให้ข้าวไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้มากขึ้นอีกด้วย

 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล กล่าวต่อไปว่า อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่คิดค้นขึ้นนี้มีสูตรและกระบวนการผลิตที่มีความเฉพาะ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารครบทุกชนิดในปริมาณที่เพียงพอต่อตามความต้องการทางโภชนาการของผู้ป่วย โจทย์ที่น่าสนใจมีอยู่ว่าคาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์จะต้องไม่ดูดซึมอย่างรวดเร็ว หรือทำให้น้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับผลิตภัณฑ์ต้องมีลักษณะทางกายภาพที่เหมาะสมสำหรับการให้ทางสายให้อาหาร อีกทั้งยังมีการใช้โปรตีนผสมจากพืชที่มีชนิดและปริมาณของกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อการสร้างโปรตีนชนิดต่างๆในร่างกาย สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีการแพ้โปรตีนนม หรือไข่ จึงได้มีการคิดค้นสูตรและกระบวนการผลิตภายใต้แนวคิด “การแยกส่วนของข้าวออก แล้วเติมกลับเข้าในผลิตภัณฑ์เพื่อปรับปรุงให้ได้คุณลักษณะที่ต้องการ” หรือ remove to improve เพื่อให้สามารถนำข้าวไทยมาใช้เป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์และผลิตเพื่อจำหน่ายได้ในระดับอุตสาหกรรม

“การดำเนินโครงการวิจัยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่วนของการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์โดยใช้สัตว์ทดลอง และส่วนของการศึกษาทางคลินิกกับผู้ป่วย ที่ดำเนินงานภายใต้ทีมวิจัยจากแพทย์ เภสัช โภชนาการ และวิทยาศาสตร์ในสาขาต่างๆ เป็นความร่วมมือจากหลายคณะ และหน่วยงานภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีการทำงานที่สอดประสานกัน โดยดำเนินงานวิจัยร่วมกับบริษัทเอกชนผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยที่มีเบาหวาน โดยตั้งเป้าผลิตออกสู่ตลาดภายในต้นปี 2564 ทั้งชนิดพร้อมบริโภคและชนิดผงชงละลาย ที่มีอายุการเก็บรักษานานกว่า 1 ปี ที่ให้ความสะดวก สะอาด และสารอาหารที่ครบถ้วน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและผู้ป่วยที่มีเบาหวาน ซึ่งผลงานวิจัยได้มีการจดอนุสิทธิบัตรแบบ  non-exclusive เพื่อเปิดโอกาสให้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเบาหวาน และส่งเสริมเศรษฐกิจไทยอีกด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภัทร์ ไชยกุล กล่าวทิ้งท้าย