ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือชื่อทางการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศออกมาว่า Covid-19 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและทำอันตรายกับระบบต่างๆ ในร่างกาย ยิ่งเป็นผู้ป่วยสูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดจนโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด หากได้รับเชื้อ Covid-19 และปรากฏอาการโรคปอดบวม ถ้าไม่รีบรักษาอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย และอวัยวะล้มเหลวหลายระบบได้ในที่สุด
นพ.อนุสิทธิ์ ทัฬหสิริเวทย์ อายุรแพทย์หัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า หากติดเชื้อไวรัส Covid-19 จะมีระยะฟักตัว 2 – 14 วัน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้ ถึงแม้ว่าจะไม่มีอาการแสดง โดยผู้ป่วย 1 รายสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้เฉลี่ย 2 – 4 คน ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของประชากรและฤดูกาล อาการแสดงคือ จะมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล คัดจมูก หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งความรุนแรงของโรคนี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคลและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ จากข้อมูลวารสารการแพทย์ The Lancet ระบุว่า คนในกลุ่มที่มีโรคหัวใจ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตหากติดเชื้อไวรัส Covid-19 โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัส Covid-19 พบว่ามีโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง 40% ซึ่งกลุ่มนี้เมื่อได้รับเชื้อไวรัส Covid-19 ส่งผลให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ 17% กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ 7% ส่งผลให้ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลวได้ 9% ตลอดจนไตวาย 4% ขณะเดียวกันผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัส Covid-19 จากข้อมูลทั้งหมด 138 เคสที่ได้รับเชื้อไวรัส Covid-19 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนระบุว่า ผู้ป่วยอาการหนักระยะวิกฤติมักจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง 58% โรคเบาหวาน 22% โรคหลอดเลือดหัวใจ 25% โรคหลอดเลือดสมอง 17%
ฉะนั้นหากมีโรคประจำตัว ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำและไม่ควรละเลยที่จะดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อาทิ หากมีไขมันในเลือดสูงควรต้องลดปริมาณไขมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ถ้าเป็นโรคเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้เกินเกณฑ์ และควรเลิกสูบบุหรี่ เป็นต้น
การป้องกันเชื้อไวรัส Covid-19 สามารถทำตามคำแนะนำของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดอย่างน้อย 20 วินาที (หรือลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์แล้วรอจนเจลแห้ง) สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง สีเข้มด้านนอก สีอ่อนด้านใน ปิดปากและจมูก คลุมคาง บีบดั้ง ล้างมือ ผู้ไม่ป่วยสวมหน้ากากผ้าได้ ส่วนผู้ที่มีอาการป่วยให้สวมหน้ากากอนามัยเพื่อควบคุมการแพร่กระจายโรค หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ขยี้ตา แคะจมูก และสัมผัสปากเพื่อลดโอกาสการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ไอ จามในคอเสื้อหรือแขนพับ เลี่ยงการใช้มือป้องปากและจมูก ถ้าใช้มือป้องปากและจมูก ต้องล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง เช็ด ทำความสะอาดพื้นผิวที่หยิบ จับ สัมผัสบ่อยๆ เช่น ลูกบิด ที่จับประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ วัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ด้วยแอลกอฮอล์หรือน้ำสบู่ (ขึ้นกับลักษณะพื้นผิวสัมผัสนั้นๆ) หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่ผู้คนหนาแน่น เช่น โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า ศูนย์อาหาร สถานีขนส่ง สนามบิน สถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น รีบทำธุระ รีบกลับที่พัก หากจำเป็นต้องไปให้สวมหน้ากาก ลูบมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ด้วย ปิดฝาชักโครกทุกครั้งที่กดล้างเพื่อลดโอกาสการฟุ้งกระจายของไวรัส ซึ่งถูกขับออกทางอุจจาระได้ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบโถสุขภัณฑ์ใส่ในถังพักน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เพื่อลดโอกาสการป่วย ซึ่งจะมีอาการแสดงคล้ายกับการติดเชื้อ Covid-19 จะได้ไม่ถูกเฝ้าระวังติดตาม การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส Covid-19
เพราะเชื้อไวรัส Covid-19 แพร่กระจายได้ง่ายทางละอองฝอยของผู้ป่วยจากเมืองที่เป็นแหล่งระบาด นพ.อนุสิทธิ์ แนะนำว่า “ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยควรระมัดระวัง เรื่องการติดต่อด้วยการดูแลสุขอนามัยของตนเองอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้หากมีประวัติสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ต้องสงสัยภายใน 14 วันแล้วมีอาการไข้ ไอ น้ำมูก หายใจเหนื่อย ควรพบแพทย์เพื่อคัดกรองและหาสาเหตุแต่เนิ่นๆ จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางปอด หัวใจ และไต ที่อาจเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญหากมีโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเดิมหรือมีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อหลอดเลือดหัวใจตีบ อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งและควบคุมระดับไขมัน น้ำตาล ค่าการอักเสบของหลอดเลือดและความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันปอดบวม Pneumococcal Vaccine หากมีข้อบ่งชี้ในผู้สูงวัยที่มีโรคปอดหรือโรคหัวใจภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด”