แพทย์ผู้เชี่ยวชาญชี้ นอนกรน “เสี่ยงวูบ – โรคร้าย – อุบัติเหตุ”

48

‘การนอนหลับ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการดูแลสุขภาพที่หลายๆ คนมักจะมองข้ามไป เพราะในความเป็นจริงมนุษย์เราใช้เวลานอนถึง 1 ใน 3 ของชีวิต และการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แค่เพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่ยังจำเป็นต้องนอนหลับอย่างมีคุณภาพด้วย

สมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท เมดิคอลอินเทนซีฟแคร์ จำกัด เปิดตัวโครงการ “นอนไม่กรน ขับไม่ชน รถไม่คว่ำ” เนื่องใน ‘วันนอนหลับโลก 2020’ (World Sleep Day2020) เพื่อรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการนอนหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับและสัญญาณอันตรายจากการกรน รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนใส่ใจเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างเหมาะสม

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณวรรณ พฤทธิพันธุ์ นายกสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า วันนอนหลับโลกในปีนี้ ทางสมาคมฯ มีความประสงค์ที่จะให้ความรู้ประชาชนคนไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการนอนหลับที่มีคุณภาพ อันตรายจากการนอนกรนและโรคหยุดหายใจขณะหลับ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม

สมาคมเล็งเห็นว่าทางฟิลิปส์และเมดิคอลอินเทนซีฟแคร์เองก็มีวัตถุประสงค์เดียวกัน จึงเกิดเป็นความร่วมมือในครั้งนี้ ริเริ่มโครงการ “นอนไม่กรน ขับไม่ชน รถไม่คว่ำ” ขึ้น โดยการสนับสนุนจาก 5 โรงพยาบาล ได้แก่ 1) ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย 2) ศูนย์โรคการนอนหลับ โรงพยาบาลรามาธิบดี 3) ศูนย์นิทรรักษ์ ศิริราช โรงพยาบาลศิริราช 4) ศูนย์โรคการนอนหลับ สถาบันโรคทรวงอก และ 5) ศูนย์สหเวชศาสตร์การนอนหลับ สุรศักดิ์มนตรี โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

ภายใต้แนวคิด ‘นอนหลับสนิท ชีวิตสุขสันต์ โลกพลันสดใส’ ซึ่งเป็นคำขวัญของวันนอนหลับโลกประเทศไทย เพราะการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในหลายด้านทั้งความจำ ความคิดสร้างสรรค์ การจัดการความเครียด ภูมิต้านทาน และการทำงานของระบบอวัยะต่างๆ ภายในร่างกาย แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทำงาน และสภาพแวดล้อม ส่งผลให้ผู้คนให้ความสำคัญกับการนอนน้อยลง ซึ่งหากผู้คนนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็ย่อมเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้มากขึ้น

” รวมถึงส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิในการทำงาน และยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วง 7 วันอันตรายในปีพ.ศ. 2562 มีการเกิดอุบัติเหตุกว่า 3,338 ครั้ง และคาดว่าอาจมีสาเหตุจากการขับรถหลับในได้สูงถึงร้อยละ20 ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอและไม่มีคุณภาพนั่นเอง”ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอรุณวรรณ กล่าว

ด้านแพทย์หญิงนวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทย โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ต้องบอกว่าปัจจุบันมีผู้เข้ามาปรึกษาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับอาการนอนกรน ซึ่งส่วนใหญ่มาด้วยความคิดว่าเป็นสิ่งที่รบกวนคนที่นอนด้วย มากกว่าคิดว่าเป็นโรค แต่ในความเป็นจริงต้องบอกว่า อาการกรนนั้นเป็นสัญญาณเตือนของ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (Obstructive Sleep Apnea: OSA) โดยสาเหตุของการกรนเกิดได้จากระบบทางเดินหายใจส่วนบนอุดตัน ต่อมทอมซิลโต โคนลิ้นใหญ่ เยื่อหูและจมูกบวม ลิ้นไก่ยาว ช่องคอหย่อน หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากและอายุที่เพิ่มขึ้น

“ซึ่งหากปล่อยไว้โดยไม่เข้ารับการรักษาก็จะทำให้เกิดการหยุดหายใจขณะหลับได้ และส่งผลให้ภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้คุณภาพการนอนลดลง เกิดเป็นผลเสียต่อร่างกายเพิ่มขึ้นระยะยาว ทั้งโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ภาวะสมองเสื่อม อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สมาธิสั้น หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากหลับใน โดยเฉลี่ยแล้วอาการกรนจะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเพราะในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมีฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการหายใจมากกว่าผู้ชาย” แพทย์หญิงนวรัตน์  กล่าว

นายแพทย์สมประสงค์ เหลี่ยมสมบัติ อาจารย์แพทย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาล รามาธิบดี กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาที่มีในประเทศไทยพบว่าในประชากรผู้ใหญ่วัยทำงาน พบความชุกผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เพศชายอยู่ที่ 15.4% และผู้หญิง 6.3% ในขณะที่ประเทศอเมริกา พบประชากรผู้ใหญ่ที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นสูงถึง 1 ใน 3 คน โดยยิ่งอายุมากขึ้นหรือมีปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคอ้วน สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ทานยานอนหลับบางชนิด รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย ยังเป็นตัวกระตุ้นให้อัตราการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นเพิ่มสูงขึ้นด้วย

เนื่องจากเมื่อระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น เยื่อบุจมูกเกิดการระคายเคือง มีการบวมคัด จะส่งผลให้เกิดทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับง่ายขึ้น นอกจากนี้ ฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้ระบบหายใจส่วนล่างและถุงลมปอดเกิดความระคายเคือง เกิดอาการไอ หลอดลมอักเสบ โรคหืดกำเริบ ได้อีกด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้คุณภาพการนอนหลับลดลง

ในแง่ของการรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นนั้น นอกจากการลดพฤติกรรมเสี่ยงแล้ว แพทย์อาจจะให้การรักษาโดยการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP), การใส่ทันตอุปกรณ์(oral appliance) หรือการผ่าตัด ในการรักษา ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยแต่ละบุคคล นายแพทย์สมประสงค์ กล่าว

ด้าน นายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของฟิลิปส์ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คน เราจึงเดินหน้าในการทำกิจกรรมเกี่ยวกับการให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพควบคู่กับการนำเสนอนวัตกรรมและโซลูชั่นด้านเฮลท์แคร์อย่างต่อเนื่อง และด้วยเราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนอนหลับที่สำคัญพอๆ กับเรื่องโภชนาการและการออกกำลังกาย ซึ่งจากผลการสำรวจด้านการนอนประจำปีของฟิลิปส์โกลบอล “Wake Up Call: Global Sleep Satisfaction Trends”1 พบว่าประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกมีค่าเฉลี่ยการนอนต่อคืนเพียง 7 ชม. และกว่า 47% เปิดเผยว่าไม่พึงพอใจในการนอนของตน โดย 8 ใน 10 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประสบภาวะสะดุ้งตื่นกลางดึกอย่างน้อย 1 ครั้ง

และผลสำรวจกว่าครึ่งยอมรับว่าแม้จะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องปัจจัยที่ดีที่ช่วยส่งเสริมการนอนหลับ แต่ความเครียดยังคงเป็นปัจจัยอันดับหนึ่งที่ส่งผลต่อคุณภาพการนอน รองลงมาคือสภาพแวดล้อมในห้องนอน เสียง แสง อุณหภูมิ การใช้มือถือหรือแท็บเล็ตก่อนนอน และโรคประจำตัว เราจะเห็นว่าคนส่วนมากยังคงมีปัญหาการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพอยู่

บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด และพันธมิตรคู่ค้าของเรา บริษัท เมดิคอลอินเทนซีฟแคร์ จำกัด จึงได้ร่วมสนับสนุนการทำงานของสมาคมโรคจากการนอนหลับแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการ “นอนไม่กรน ขับไม่ชน รถไม่คว่ำ” เพื่อร่วมรณรงค์และส่งเสริมการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการนอนหลับที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พร้อมทั้งให้ความใส่ใจต่อการเข้ารับการตรวจหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เพราะเป็นภัยเงียบที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

“นอกจากนี้ เรายังได้นำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยให้การตรวจวินิจฉัยและดูแลรักษาผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในระยะยาว” นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

การเช็คอาการเบื้องต้นของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ให้สังเกตว่าตนเองมีการสะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกพร้อมกับอาการหายใจเฮือกหรือไม่ หรือยังมีอาการง่วงอยู่ในช่วงกลางวันแม้จะนอนหลับอย่างเพียงพอ แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่มั่นใจว่าตัวเองมีความเสี่ยงหรือไม่ สามารถทดสอบด้วยตัวเองได้ที่ https://www.cpapmic.com/sleeptest/

เกี่ยวกับ รอยัล ฟิลิปส์
รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนภายใต้แนวคิด Health Continuum โดยเริ่มตั้งแต่การดูแลสุขภาพตั้งแต่ที่บ้านด้วยการมีความเป็นอยู่ที่ดี การป้องกันโรค ไปจนถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่โรงพยาบาล จนกระทั่งการ กลับไปดูแลรักษาสุขภาพผู้ป่วยต่อที่บ้าน ฟิลิปส์ได้พัฒนาโซลูชั่นแบบครบวงจร ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยข้อมูลเชิงลึกทางคลินิกและความต้องการของผู้บริโภค

สำนักงานใหญ่ของฟิลิปส์ตั้งอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และปัจจุบันฟิลิปส์เป็นผู้นำด้านรังสีวินิจฉัย (diagnostic imaging), การรักษาด้วยรังสีภาพนำวิถี (image-guided therapy), เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพผู้ป่วย (patient monitoring) และระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านสุขภาพ (health informatics) รวมถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อการดูแลสุขภาพ และนวัตกรรมดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้าน ในปีค.ศ. 2019 ฟิลิปส์มียอดขายกว่า 19.5 พันล้านยูโร มีพนักงานกว่า 80,000 คนด้านการขายและการให้บริการ และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับฟิลิปส์ได้ที่ www.philips.com/newscenter.