ม.มหิดล มุ่งผลิตนวัตกรรมสุขภาพ พัฒนาระบบสุขภาพไทยในยุค 5G

42

โลกในศตวรรษที่ 21 มีสิ่งที่ท้าทายในระบบสุขภาพมากมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบและความสูญเสียต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ในการพัฒนาระบบสุขภาพไทย โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล 5G มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ การแพทย์ เป็นความหวังที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการสุขภาพได้ตามความต้องการ และรวดเร็ว โดยพบว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เริ่มเข้ามามีบทบาทในระบบสาธารณสุขทั่วโลกมากขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ได้รับเกียรติบรรยายในหัวข้อ “ระบบสุขภาพไทยในยุค 5G” ในการประชุมวิชาการครั้งที่ 27 เรื่อง “ความท้าทายการพยาบาลในศตวรรษที่ 21” จัดโดย สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ โดยกล่าวว่า “ระบบสุขภาพ” (Healthcare System) ทั่วโลกตอนนี้กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลง (disruption) อย่างสิ้นเชิง ด้วยความก้าวหน้าทางดิจิทัลและเทคโนโลยี 5G ที่กำลังมา ทำให้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น

แต่ก็ยังมีบางอย่างที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นคนควรจะไปทำในสิ่งที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ที่หุ่นยนต์ทำไม่ได้ และลดบทบาทในส่วนที่หุ่นยนต์ทำได้ดีกว่า ในทางการแพทย์ก็เช่นเดียวกัน ระบบสุขภาพในยุค 5G ประเทศไทยต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งระบบงานและทรัพยากรบุคคล ในอนาคตคนไข้บางส่วนที่อาการไม่รุนแรงอาจไม่ต้องมาโรงพยาบาลก็ได้ หากเรามีระบบเทคโนโลยีการสื่อสารที่ดีที่มีประสิทธิภาพมาคอยรองรับ ระบบสุขภาพก็จะเปลี่ยนไป ชีวิตคนจะมีคุณภาพดีขึ้นด้วย

“เทคโนโลยีทำให้คนมีความรู้ดีขึ้น เทคโนโลยีไม่ได้แค่ช่วยรักษาโรค แต่ช่วยป้องกันโรคได้ด้วย เพราะการที่คนมีความรู้ดีขึ้น มีที่ปรึกษาที่ดี ชีวิตก็จะมีความเสี่ยงน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมายังพบว่าคนไทยยังมีความเข้าใจในระบบสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากขาดความรู้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราเป็นหวัด คนไทยก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นหวัดต้องกินยาแก้อักเสบ โดยมักเข้าใจกันผิดๆ ว่า “ยาแก้อักเสบ” หมายถึง “ยาฆ่าเชื้อ” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นคนละเรื่องกันเลย โดยยาฆ่าเชื้อที่ว่านี้ส่วนใหญ่หมายถึง “ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” แต่เวลาที่เราเป็นหวัดส่วนใหญ่เป็น “เชื้อไวรัส” ซึ่งแปลว่า ยาที่เราซื้อมากินนอกจากไม่ช่วยอะไรแล้วยังสร้างความเสียหาย เพราะจะทำให้เราดื้อยาได้ในที่สุด หากเราใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้ประชาชนเข้าใจเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ก็จะช่วยลดความเสียหายโดยไม่จำเป็น” ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน กล่าว

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย ยังได้กล่าวถึงบทบาทของสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) ว่าได้วางยุทธศาสตร์ที่เน้นในเรื่องการพัฒนานวัตกรรมสุขภาพ เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นมหาวิทยาลัยที่มีจุดแข็งทางด้านดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งคำว่า “สุขภาพ” ไม่ได้หมายถึง “การแพทย์” อย่างเดียว แต่อาจหมายถึง “การส่งเสริมความเข้าใจในเรื่องสุขภาพที่ดี” และ “การป้องกันโรคที่ดี” ด้วย ตัวอย่างผลงานนวัตกรรมเด่นภายใต้การดูแลของ iNT ที่ผ่านมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารข้นหนืดสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านการกลืนอาหาร และผู้สูงอายุ

โดยพัฒนาให้มีรสชาติเลียนแบบของจริง ได้แก่ ข้าวเหนียวมะม่วง ต้มข่าไก่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนจากถั่วดาวอินคา ซึ่งมีโปรตีนสูงเท่าเนื้อสัตว์ และล่าสุด คือ “ถั่งเช่ามังสวิรัติ” ที่เลี้ยงด้วยวิธีธรรมชาติโดยไม่ใช้หนอน มีสารออกฤทธิ์ครบถ้วนและคุณภาพสูง ผู้ที่เป็นมังสวิรัติรับประทานได้ ซึ่งตอนนี้มีบริษัทเอกชนสนใจนำไปผลิตทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นไป ได้แก่ วัคซีนไข้เลือดออก และ ชุดน้ำยาตรวจมะเร็งปากมดลูก ซึ่งทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพสูง และทำให้คนไทยมีโอกาสเข้าถึงการรักษามากขึ้น เนื่องจากคิดค้นได้เอง จึงมีต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างนวัตกรรมจากนักวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลที่สามารถไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้อย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) มีผลงานโดดเด่นที่ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดลได้อันดับ 1 ของประเทศไทยจากผลงานด้านนวัตกรรมทรัพย์สินทางปัญญาสูงสุดจากการจัดอันดับโลกของ Scimago ประเทศสเปน ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยไทยแห่งเดียวที่ได้รับรางวัล Triple E Award 2020 Asia-Pacific จาก Accreditation Council for

Entrepreneurial and Engaged Universities (ACEEU) ประเทศเนเธอร์แลนด์ จากการสนับสนุนงานด้านวิจัย นวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา และการส่งเสริมระบบผู้ประกอบการ โดยในปี 2562 มหาวิทยาลัยมหิดล มีผลงานการรับทำวิจัยและบริการวิชาการกว่า 300 โครงการ มีผลงานการยื่นจดสิทธิบัตร/อนุสิทธิบัตร กว่า 60 เรื่อง ร่วมกับผลงานด้านทรัพย์สินปัญญาอื่นๆ จำนวนมาก มีกิจกรรมส่งเสริมผู้ประกอบการกว่า 20 โครงการ และมีความร่วมมือกับเอกชนหลายแห่งในการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์และสังคมต่อไป