ม.มหิดล ทำโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนลาว ด้านโรคไม่ติดต่อ

12

ประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เปรียบเหมือนบ้านพี่เมืองน้องที่มีความใกล้ชิดทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม โดยในปี 2563 ถือเป็นปีครบรอบ 70 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย – สปป.ลาว

รัฐบาลไทย โดย กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency : TICA) ได้ร่วมกับรัฐบาล สปป.ลาว ดำเนินโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนลาว ด้านโรคไม่ติดต่อ เพื่อนำผลไปใช้ในการวางแผนด้านนโยบายสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาไทย – ลาว ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563 – 2565) สาขาสาธารณสุข โดยได้มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วิชัย เอกพลากร ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ในขณะนี้ทุกประเทศทั่วโลกมีแนวโน้มของปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (non-communicable diseases) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังโดยการสำรวจด้วยการเก็บข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากล

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้ใช้ประสบการณ์ในสำรวจสุขภาพประชาชนไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือ สปป.ลาว ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ผ่าน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency : TICA) เพื่อส่งเสริมการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนลาวอย่างทั่วถึง และเพื่อให้ สปป.ลาว สามารถบรรลุเป้าหมายที่ 3 คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs)

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วิชัย เอกพลากร กล่าวต่อไปว่า ระบบการเฝ้าระวังเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการควบคุมโรค NCDs ซึ่งทำให้เราได้ทราบถึงขนาดปัญหาในเบื้องต้น เพื่อจะมีการติดตามต่อไปเป็นระยะๆ ให้ได้ทราบแนวโน้มของปัญหา เพื่อการวางนโยบายเพื่อการรณรงค์ป้องกันอย่างยั่งยืน โดยทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความสัมพันธ์เชิงวิชาการกับทาง Lao Tropical and Public Health Institute (Lao TPHI) อยู่แล้ว จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนลาวในด้านดังกล่าว

โดยมีการเปรียบเทียบวิธีการเก็บข้อมูล และปรับวิธีการสำรวจให้สอดคล้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นมาตรฐานสากล และให้หน่วยงานสาธารณสุขของ สปป.ลาว ได้ทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของโรค NCDs ซึ่งเราจะเป็นฝ่ายดูแลในเรื่องของเนื้อหาข้อมูล เทคนิคและวิธีการเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ตัวอย่างชีวภาพทางห้องปฏิบัติการ และการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ และรายงานโดยผู้เชี่ยวชาญ ผ่านการประสานงานจากฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ ของคณะฯ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่อีกหลายฝ่ายที่อยู่เบื้องหลังทำให้เกิดงานนี้ขึ้นมา

ซึ่งโรค NCDs อย่างเช่น โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานนั้น พบว่าส่วนใหญ่จะป่วยกันโดยไม่รู้ตัว บางรายไม่มีอาการ จากผลการสำรวจจะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวให้กับประชาชนลาวได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น เป็นการนำองค์ความรู้ที่เรามีอยู่ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติอย่างที่แท้จริง ตามพระราชดำรัสของ พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ “พระบิดา” ของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล

“คาดว่าในปลายปีนี้จะได้ข้อมูลที่มีประโยชน์จากวิธีการเก็บข้อมูลที่ได้มาตรฐานเพื่อการนำไปกำหนดนโยบายทางด้านสาธารณสุขสำหรับสปป.ลาวครั้งแรก หลังจากนั้นเราจะมีการสำรวจ และติดตามสถานการณ์ต่อไปเป็นระยะๆ อย่างน้อยทุก 4 – 5 ปี โดยเราจะคอยถ่ายทอดประสบการณ์เทคนิคการสำรวจ ตลอดจนเนื้อหา และการพัฒนาคุณภาพการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อให้ทางสปป.ลาวได้สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ในการดำเนินการได้เองต่อไป ” ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์วิชัย เอกพลากร กล่าวทิ้งท้าย