ทำความสะอาดบ้านอย่างไร ให้ปลอดภัย ห่างไกล COVID-19

24

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทย มาถึงจุดที่หลายคนสงสัยว่าเราจำเป็นต้องกักตัวอยู่ภายในบ้าน ห้ามออกไปข้างนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เหมือนที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศที่ประกาศให้มีการปิดเมืองเพื่อป้องกันการระบาดไม่ให้ลุกลามไปมากกว่าเดิมแล้วหรือยัง

โดยสิ่งสำคัญในช่วงนี้ที่คุณสามารถทำได้คือใส่ใจกับเรื่องความสะอาดในบ้านหรือคอนโดฯ ซึ่งแน่นอนว่าหากคุณเป็นเจ้าของหรือผู้อยู่อาศัยก็ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ ทั้งเรื่องสุขอนามัยที่ทำให้บ้านหรือคอนโดฯ ห่างไกลโรค หรือถ้าคุณเป็นนักลงทุนที่ต้องการขายต่อหรือเช่าก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เพราะบ้านที่สะอาด ย่อมสร้างความประทับใจแรกให้กับผู้ซื้อหรือผู้เช่า ซึ่งจะทำให้การปล่อยเช่าหรือขายต่อเป็นไปได้อย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ นอกจากห้องหับหรือพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านที่ทำเป็นประจำแล้ว ยังมีอีก 9 จุดสำคัญที่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ที่เรามักจะมองข้ามเสมอ จะมีตรงไหนและมีวิธีทำความสะอาดอย่างไร DDproperty มีคำแนะนำมาให้ผู้อ่านทุกท่านได้ลองสำรวจ ดังนี้

1. สวิตช์ไฟ จากการศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า บนสวิตช์ไฟมีเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วงมากถึง 217 ตัวต่อตารางนิ้ว โดยเฉพาะสวิตช์ไฟห้องน้ำนั้นมีเชื้อโรคอาศัยอยู่มากกว่าหลายเท่าตัว ทำให้เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคไปสู่บุคคลอื่น ๆ จากการสัมผัสได้ด้วย ดังนั้น จึงควรทำความสะอาดสวิตช์ไฟอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการฉีดแอลกอฮอล์ลงบนผ้า แล้วนำไปเช็ดสวิตช์ไฟให้ทั่ว ก่อนจะนำผ้าแห้งมาเช็ดซ้ำอีกรอบ เท่านี้ก็ช่วยให้สวิตช์ไฟปราศจากเชื้อแบคทีเรียและสิ่งสกปรก

2. ก๊อกน้ำ เป็นจุดสำคัญที่ทุกคนใช้งานเป็นประจำทุกวัน แต่มักมองข้ามความสะอาด วิธีทำความสะอาดก็ไม่ยาก แค่นำผ้ามาชุบน้ำร้อนหรือน้ำสบู่มาเช็ดแล้วล้างออก หรือถ้าอยากเพิ่มความเงางามให้กับก๊อกน้ำ ก็ให้ขัดด้วยเบกกิ้งโซดาผสมน้ำมะนาว ก็ทำให้ก๊อกน้ำกลับมาสะอาดเงางามได้เหมือนกัน

3.  ม่านในห้องน้ำ อีกจุดที่มีโอกาสเกิดเชื้อราขึ้นได้ง่าย เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอากาศอบอ้าว และมีความชื้นสูง ซึ่งนอกจากจะไม่น่าใช้งานแล้ว เชื้อรายังเป็นพิษต่อร่างกาย ส่งผลให้มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังได้
วิธีการทำความสะอาด
– ผ้าม่านที่เป็นผ้า สามารถถอดซักรวมกับผ้าอื่น ๆ ได้เลย ตากแดดจัด ๆ เพื่อกำจัดเชื้อรา
– ผ้าม่านพลาสติก ให้ใช้เบกกิ้งโซดาถูบริเวณที่เป็นเชื้อราออกก่อน แล้วนำไปปั่นในเครื่องซักผ้าร่วมกับผ้าขนหนูเก่า ๆ สักผืน โดยใส่น้ำส้มสายชู 1 ถ้วยแทนผงซักฟอก เมื่อซักเสร็จแล้วให้นำมาตากแดดโดยไม่ต้องปั่นแห้ง เพื่อให้คราบเชื้อราต่าง ๆ หายไป

4. มือจับหรือลูกบิดประตู ก็เป็นอีกจุดที่ถูกสัมผัสอยู่ตลอดเวลา จึงมีโอกาสที่จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคมากที่สุดแห่งหนึ่งในบ้าน ดังนั้นทำความสะอาดโดยเช็ดด้วยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง

5. ราวจับบันได การเช็ดราวจับบันไดให้สะอาด นอกจากจะทำให้บ้านดูสวยงามน่ามองยังช่วยป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายด้วย ทำความสะอาดได้โดยผสมน้ำร้อนและน้ำส้มสายชูเข้าด้วยกัน จากนั้นนำผ้าจุ่มแล้วบิดออกให้ผ้าเปียกหมาด ๆ นำไปเช็ดราวบันได แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดซ้ำอีกครั้ง

6. ต้นไม้ในบ้าน ทั้งต้นไม้จริงและต้นไม้ปลอม ต่างเป็นแหล่งสะสมฝุ่นและสิ่งสกปรกต่าง ๆ
โดยเฉพาะต้นไม้ที่อยู่ในห้องนอน ซึ่งเป็นตัวการที่ก่อให้เกิดสารก่อภูมิแพ้ (allergens) หรือสิ่งกระตุ้น ที่อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบหายใจ การรับประทานอาหาร การสัมผัสทางผิวหนัง

สำหรับการทำความสะอาดต้นไม้จริงให้ยกไปฉีดน้ำล้างสิ่งสกปรกออก แต่ถ้าหากต้นไม้มีขนาดใหญ่เกินไป ก็ให้นำผ้าไมโครไฟเบอร์มาเช็ดทำความสะอาดทีละใบแทน ส่วนต้นไม้ปลอมสามารถทำความสะอาดได้ง่าย ๆ โดยการใช้ไดร์เป่าผมเป่าฝุ่นออก และควรใส่หน้ากากเพื่อกันฝุ่นละอองขณะทำความสะอาดด้วย

7. ถังขยะ รู้หรือไม่ว่าการนำขยะออกจากถังไปทิ้งทุกวันยังไม่สะอาดเพียงพอ เพราะแบคทีเรียและกลิ่นเหม็นยังตกค้างสะสมอยู่ในถังขยะได้ ดังนั้นจึงควรล้างถังขยะด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อพร้อมกับขัดสิ่งสกปรกออก เพื่อกำจัดเชื้อโรคและกลิ่นในถังขยะให้หมดไป

8. มุ้งลวดและมู่ลี่ คือ แหล่งสะสมฝุ่นชั้นดี เพราะทำความสะอาดยาก จึงมีโอกาสที่ฝุ่นและสิ่งสกปรกจะสะสมได้ง่าย โดยวิธีการทำความสะอาดมุ้งลวดสามารถทำได้โดยล้างด้วยน้ำสบู่แล้วใช้แปรงขัดออก ก่อนนำไปผึ่งให้แห้ง พร้อมใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดรางมุ้งลวดให้สะอาด ส่วนฝุ่นบนมูลี่สามารถกำจัดได้โดยใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ชุบน้ำแล้วเช็ดทีละซี่ จากนั้นใช้ผ้าแห้งเช็ดซ้ำอีกรอบ เผื่อไม่ให้เกิดคราบน้ำ

9.เฟอร์นิเจอร์บางชนิดอาจมีสารเคมีประเภทฟอร์มัลดิไฮด์ตกค้างจากการทาสี ทากาว และอยู่ในสารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นไม้ ไม้อัด และไม้แปรรูปอื่น ๆ ซึ่งไอระเหยของสารเคมีนี้ส่งอันตรายต่อผู้อยู่อาศัยให้เกิดอาการระคายเคืองเช่น แสบตา แสบจมูก แต่ในระยะยาวจะทำให้เกิดผลเสียกับระบบร่างกายต่าง ๆ หรือก่อให้เกิดมะเร็งได้ ดังนั้น จึงควรเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์หรือตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์ที่จะนำเข้าบ้านว่า มีคำเตือนถึงการใช้สารฟอร์มัลดีไฮด์ และได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่ เพื่อสุขภาวะที่ดีในการพักอาศัย นอกจากนี้ เฟอร์นิเจอร์ยังอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อรา และเชื้อโรคได้เช่นกัน แต่สามารถทำความสะอาดง่าย ๆ ด้วยการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาด

นอกจากจุดสำคัญ ๆ ภายในบ้านที่ต้องดูแลเป็นพิเศษแล้ว การเลือกใช้สารเคมีเพื่อมาทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์ใกล้ตัว ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมกับพื้นผิวและปลอดภัยกับผู้ใช้เองก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงที่เชื้อไวรัส COVID-19 กำลังแพร่ระบาด โดยขออ้างอิงคำแนะนำที่น่าสนใจจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในประเด็นเกี่ยวกับการเลือกใช้ วัสดุ ผลิตภัณฑ์และสารเคมีสำหรับทำความสะอาดให้เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวซึ่งเป็นสิ่งที่เราสัมผัสบ่อยทั้งสิ้น ดังนี้

1. สิ่งของเครื่องใช้ที่สัมผัสบ่อย
สิ่งของเครื่องใช้ที่สัมผัสบ่อย ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเลต
วิธีทำความสะอาด ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70-90% แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง

2. พื้นผิวที่สัมผัสบ่อย
พื้นผิวที่สัมผัสบ่อย ได้แก่ เตียง โต๊ะ เก้าอี้ ของใช้รอบตัว รวมไปถึงห้องน้ำ
วิธีทำความสะอาด ให้ใช้น้ำยาฟอกผ้าขาว (3-6% โซเดียมไฮโปคลอไรท์) ผสมกับน้ำยา 1 ส่วน ต่อน้ำ 49 ส่วน ยกตัวอย่าง ไฮเตอร์ 1 ฝาขวด (ประมาณ 10 ซีซี) ผสมน้ำครึ่งลิตร เช็ดหรือแช่ทิ้งไว้ 10 นาที จากนั้นเช็ดออกด้วยน้ำสะอาด*

3. พื้นผิวโลหะ
วิธีทำความสะอาด ให้เช็ดด้วยแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70-90% แล้วทิ้งไว้ให้แห้ง* ห้ามใช้น้ำยาฟอกผ้าขาว เพราะมีฤทธิ์กร่อนโลหะ

4. ผ้า
ผ้าในบ้านที่เราใช้กันบ่อย ๆ ได้แก่ เสื้อผ้า ผ้าปูเตียง หรือผ้าขนหนู
วิธีทำความสะอาด สามารถซักได้ตามปกติ (ใช้ผงซักฟอกธรรมดาและน้ำ) หรือซักด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิ 60-90 องศาเซลเซียส

*หากหาแอลกอฮอล์ไม่ได้ สามารถใช้เดทตอล-น้ำยาฆ่าเชื้อโรค (รุ่นที่มีมงกุฎ ตัวยาคลอโรไซลีนอล) ผสมน้ำยา 1 ฝาขวด กับน้ำ 2 แก้วน้ำดื่ม และเช็ดหรือแช่ทิ้งไว้ 10 นาที

หลังจากได้ลงลึกถึงวิธีการทำความสะอาดซอกมุมในบ้านเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส COVID-19 ไปแล้ว เรายังมีคำแนะนำเพื่อรักษาสุขอนามัยของผู้อ่านเอง ก่อนอื่น คุณทราบหรือไม่ว่า ไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายหรือติดต่อผ่านกันทางไหนได้บ้าง?

หลัก ๆ แล้ว เชื้อไวรัส COVID-19 จะแพร่ผ่าน 2 ช่องทางคือ การสูดลมหายใจเอาละอองน้ำมูกหรือน้ำลาย ซึ่งเกิดจากผู้ป่วยไอหรือจามใส่เรา หรือพูดคุยกับผู้ป่วยใกล้ ๆ เป็นระยะเวลานาน และทางการสัมผัส เกิดจากเราไปหยิบจับของหรือพื้นผิวที่ผู้ป่วยสัมผัสไว้ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ หรือสิ่งของอื่น ๆ แล้วนำมาจับบริเวณใบหน้า ตา จมูก หรือปาก จึงมีคำแนะนำให้ทุกคนล้างมือบ่อย ๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% หรือฟอกสบู่แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งถือเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ตัวเอง ทุกที่ ทุกเวลา

รู้จักกับ DDproperty
DDproperty (ดีดีพร็อพเพอร์ตี้) เป็นเว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย และเป็นเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group (พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป) ซึ่งเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเอเชีย โดยในแต่ละเดือน DDproperty ได้รับความไว้วางใจจากผู้ที่กำลังค้นหาบ้านเข้ามาเยี่ยมชมและใช้บริการบนเว็บไซต์กว่า 3 ล้านราย