ม.มหิดล เตรียมพร้อมมุ่งสู่ 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลก

13

ในการพัฒนาประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก การพัฒนางานวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมถือเป็นภารกิจสำคัญของสถาบันอุดมศึกษา โดยที่ผ่านมา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มีนโยบายที่จะผลักดันให้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็น 1 ในมหาวิทยาลัยต้นแบบของประเทศที่จะขึ้นไปอยู่ใน 1 ใน 100 อันดับมหาวิทยาลัยโลก

สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่ทำรายได้จากนวัตกรรมเป็นลำดับต้นๆ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดจากการผลักดันงานวิจัยที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยาวนานมากว่า 30 ปี ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะเรื่องวัคซีนเดงกี่ หรือ ไข้เลือดออก ซึ่งตอนนี้ทางบริษัทเอกชนที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีกำลังทำการศึกษาวิจัยในคน และมีแนวโน้มที่จะนำออกไปสู่ตลาดโลก เพื่อช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออก

ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์ ไพบูลย์สุขวงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนานวัตกรรม สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงนโยบายในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมของสถาบันฯ โดยมองไปถึงตัวชี้วัดในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกในด้านความเป็นนานาชาติ (Internationali zation) ซึ่งที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย 2 มหาวิทยาลัย ในการแลกเปลี่ยนนักศึกษา โดยได้เปิดให้นักศึกษาทางการแพทย์จากประเทศอินโดนีเซียมาศึกษาดูงานเป็นเวลาอย่างน้อย 4 สัปดาห์ที่สถาบันฯ เพื่อเพิ่มบรรยากาศความเป็นนานาชาติ โดยในปีที่ผ่านๆ มาได้จัดให้มีกิจกรรม 3 ช่วง คือ เดือนมกราคม กรกฎาคม และพฤศจิกายน

ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์  กล่าวต่อไปว่า ปกตินักศึกษาแพทย์ที่มาดูงานจะยังไม่มีพื้นฐานทางด้านงานวิจัย เพราะฉะนั้นเราจึงปูพื้นให้ก่อนในสัปดาห์แรกที่มาถึงว่า งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร โดยสอนให้รู้จักการใช้เครื่องมือ และเทคนิคพื้นฐานต่างๆ ทางชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ตลอดจนได้ให้ปฏิบัติงานจริงในห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่สร้างผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีชื่อเสียงให้กับสถาบันฯ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านวัคซีน ธาลัสซีเมีย การวิจัยระบบประสาท ไวรัส แบคทีเรีย และการวิจัยทางด้านอณูชีววิทยาอื่นๆ รวมทั้งห้องปฏิบัติการที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ได้แก่ กุ้ง และมันสำปะหลัง จากนั้นนักศึกษาจะได้ทำโครงการวิจัยเล็กๆ และนำเสนอผลการวิจัยทั้งที่ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล และที่มหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย นักศึกษาจะได้ฝึกตั้งโจทย์วิจัย คิดกระบวนการแก้ปัญหา และฝึกทำวิจัยจริงๆ โดยได้รับการปรึกษาอย่างใกล้ชิด ซึ่งทางสถาบันฯ ได้จัดมีการฝึกอบรมเสริมทางด้านการเขียนรายงานการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Report) ให้อีกด้วย

“งานวิจัยในยุคปัจจุบันไม่อาจมุ่งเน้นแค่งานวิจัยพื้นฐานแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องทำงานวิจัยเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ปัญหาของสังคม และประเทศชาติ โดยเรามองไปถึงร่วมมือในระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนางานวิจัยของเราให้ไปสู่ระดับความเป็นสากลมากขึ้น และนำองค์ความรู้นั้นไปช่วยแก้ไขปัญหาของระดับชาติและนานาชาติได้ด้วย”  ดร. นายแพทย์กิตติพงศ์ กล่าว