รู้สึกแปล๊บๆ ระบมที่ข้อมือ เจ็บธรรมดาหรือถึงขั้นผ่าตัด

7727

โอ๊ยๆ เป็นอะไรไม่รู้ อยู่ๆ ข้อมือก็เจ็บขึ้นมา ทายาก็ยังไม่หาย รู้สึกช้ำระบมตรงโคนนิ้วโป้ง จะหยิบจับอะไรก็เสียวแปล๊บๆ อย่างไม่มีสาเหตุ

หลายคนที่กำลังเกิดอาการนี้ อาจจะนึกไปว่า นี่คือการเจ็บข้อมือธรรมดาๆ นวดยาคลายกล้ามเนื้อสักพักก็หาย แต่สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง นั่นอาจจะหมายถึงสัญญาณอาการที่เรียกว่า อาการเอ็นอักเสบที่ข้อมือ (De quervain’s Tenosynovitis) หรือโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ

ศูนย์ศัลยกรรมทางมือ โรงพยาบาลเวชธานี ให้ความรู้เอาไว้ว่า อาการในลักษณะนี้ เกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็นของเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ 2 เส้น ทำให้เกิดการตีบหรือหดตัวการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายใน โดยส่วนใหญ่สาเหตุของอาการเกิดจากความเสื่อมสภาพจากอายุที่มากขึ้น รวมถึงโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ และพังผืดที่เกิดจากการผ่าตัด

คนที่ใช้ข้อมือและนิ้วโป้งในท่าซ้ำๆ มากๆ อย่าง นักดนตรี นักกีฬา ช่างภาพ หรือแม้แต่คนทั่วไปที่ใช้คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน ก็เสี่ยงที่จะเจอกับการนี้ ช่วงแรกๆ อาจจะเป็นแค่อาการระบม ช้ำ และเจ็บแค่จี๊ดๆ แบบเจ็บรำคาญ แต่หากปล่อยไว้นานก็อาจจะทำให้หยิบจับอะไรไม่ได้เลย นั่นหมายถึงความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้น

นับเป็นเรื่องที่ใครไม่เจอไม่รู้ และอาจจะดูว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แล้วจะสังเกตได้อย่างไรว่า เรากำลังเข้าข่ายนี้

ลองยื่นแขนไปข้างหน้า กำมือให้นิ้วโป้งอยู่ด้านบน แล้วหักข้อมือลง หากมีอาการเจ็บที่ข้อมือ ก็ขอให้สันนิษฐานไว้เลยว่าใช่ และไปพบแพทย์เพื่อความชัวร์ พร้อมรับการรักษาอย่างถูกวิธี

สำหรับคนที่บอกว่า ยังใช้มือตามปกติได้ และยังเจ็บไม่มาก ก็มีวิธีปฏิบัติเพื่อบำบัดอาการเบื้องต้น โดยการหยุดพักการใช้มือและนิ้วโป้ง โดยเฉพาะการใช้งานแบบซ้ำๆ เช่น การเขียนหนังสือ จับเม้าส์คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และหมายรวมถึงการเล่นเกมผ่านมือถือหรือใช้นิ้วโป้งกับจอมือถือเป็นระยะเวลานานด้วย และควรละเว้นการยกของหนักอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ สามารถบำบัดด้วยการประคบน้ำอุ่นหรือน้ำเย็นได้

การพบแพทย์ในช่วงเบื้องต้น อาจจะได้รับเฝือกมารัดไว้บริเวณข้อมือ พร้อมการรับประทานยาแก้อักเสบเพื่อลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็นข้อมือ หากยังไม่เห็นผล แพทย์ก็จะทำการฉีดยาช่วยลดการอักเสบและบวม ท้ายสุดถ้ายังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องผ่าตัด ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลารักษาแผลแล้ว ใช่ว่าอาการจะหายขาด เพราะยังสามารถกลับมาได้อีก

สำหรับการป้องกันโรคปลอกหุ้มเอ็นข้อมืออักเสบ ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ข้อมือและนิ้วโป้งในลักษณะกางนิ้วหรือยกนิ้วขึ้น หรือใช้งานในท่าซ้ำๆ เป็นเวลานาน หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรพักมือเป็นระยะๆ เมื่อเริ่มปวดก็อย่าใช้มืออย่างหักโหมแล้วคิดว่าคงไม่เป็นอะไร แนะนำว่าให้ปรึกษาแพทย์จะเป็นการดีที่สุด

นับเป็นโรคภัยที่ดูๆ ไปก็แสนธรรมดา ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกันมากในคนปัจจุบัน ทั้งปัจจัยเสี่ยงของวัย งานที่ทำ หรือ วิถีของโลกโซเชียลที่อยู่กับโทรศัพท์มือถือกันตลอดทั้งวันหรือแทบทั้งคืน นอกจากสายตาที่น่าเป็นห่วงแล้ว ข้อมือก็เป็นอีกอวัยวะที่มีความเสี่ยงกับการใช้งานซ้ำๆ มากเกินได้

คำว่ากันไว้ก่อนดีกว่ามาแก้ทีหลังยังใช้ได้ดีเสมอ ทางสายกลางหรือทางแห่งความพอดี ก็เช่นเดียวกัน

 

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก https://www.vejthani.com