
ท่ามกลางความวิตกกังวลในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน จนกล่าวได้ว่า เราไม่สามารถถอยกลับไปตั้งหลักเพื่อขจัดเชื้อไวรัสโคโรน่าออกไปจากโลกได้ บรรดานักวิจัยทางการแพทย์จึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อค้นหายาในการรักษา ซึ่งยังพอมีสัญญานที่ดีของการนำยาที่เคยมีอยู่ในโลกมนุษย์มาปรับใช้ในการรักษาโควิด-19 จากผลเบื้องต้นอันเป็นที่น่าพอใจ
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ที่ปรึกษากรมการแพทย์และกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ยังไม่มียาจำเพาะสำหรับการป้องกันหรือรักษา เนื่องจากเป็นเชื้อโรคใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นเพียง 3 เดือน แต่นักวิจัยในประเทศต่างๆ ได้ทำการรนำยาต้านไวรัสตัวอื่นมาทดลอง อาทิ ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ และ ยาต้าน HIV พบว่ามีผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถใช้ทดแทนกันได้
โดยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ชื่อว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir) หรือ T-705 ชื่อทางการค้าว่า อาวิแกน (Avigan) เป็นยาคิดค้นและจดทะเบียนในญี่ปุ่นมาแล้ว 5-6 ปี ประเทศไทยมีการสั่งซื้อล็อตแรก 4,000 เม็ด ในราคาเม็ดละ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 150 บาทต่อเม็ด และได้ทำการสั่งซื้อล็อตที่ 2 จำนวน 40,000 เม็ด ในราคาเม็ดละ 3 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 100 บาทต่อเม็ด และจะพิจารณาเพิ่มเป็น 400,000 เม็ด ทั้งนี้เนื่องจากปริมาณที่จำกัด การใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษา ต้องอยู่ในข้อกำหนดและเกณฑ์ทางการแพทย์เท่านั้น
จากบทความ “การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 1 : ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” โดยรองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์ หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ยานี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 เพื่อใช้รักษาโรคไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ใช้ยาอื่นไม่ได้ผล มีการใช้ยานี้ในช่วงที่มีการระบาดอย่างหนักของไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ในแถบแอฟริกาตะวันตกช่วงปี พ.ศ. 2557 – 2559
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ “ฟาวิพิราเวียร์” (favipiravir) ได้รับความสนใจมากกว่ายาชนิดอื่นๆ เนื่องจาก ข้อมูลเบื้องต้นที่พบว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีประสิทธิภาพดีต่ออาร์เอ็นเอไวรัสหลายชนิด เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (influenza virus), ไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย (foot-and-mouth disease virus), ไวรัสไข้เหลือง (yellow fever virus) อีกทั้งได้ทดลองใช้รักษาโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรน่า โรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีนและที่ ประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับยาตัวนี้ว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์” เป็นยาที่รักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยอยู่แล้ว โดยยาตัวนี้ไม่ได้ช่วยฆ่าไวรัส แต่มีผลช่วยในการยับยั้งการแตกตัวของเชื้อไวรัส และไม่ใช่ยาสำหรับการรักษาโควิด 19 จากเชื้อไวรัสโคโรน่าโดยเฉพาะ จึงไม่สามารถใช้ยาตัวเดียวได้ ต้องใช้ยาร่วมกับตัวอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ได้เน้นย้ำว่า แม้ว่าจะมีมาตรการป้องกัน หรือ ความพร้อมในการรักษา แต่มาตรการทางการแพทย์ที่ดีที่สุดสำหรับการต่อสู้กับโควิด-19 คือ มาตรการห้ามเคลื่อนย้ายผู้คน แต่หากมีการเคลื่อนย้ายแล้ว การกักตัวเองไม่ให้ใกล้ชิดกับผู้อื่นอย่างเคร่งครัดเป็นเวลา 14 วัน ก็จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ได้
ที่มา : Live NBT2HD งานแถลงข่าวมาตรการแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ณ ทำเนียบรัฐบาล (24 มีนาคม 2563), บทความ “การค้นคว้ายาต้านไวรัสโควิด-19 ตอนที่ 1 : ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir)” www.bangkokbiznews.com