แนะนำลูกหลาน-ผู้สูงวัย อยู่ร่วมกันอย่างไรไม่เสี่ยงไวรัส

28
ภาพโดย Bernd Schray จาก Pixabay

แพทย์แนะให้ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว อยู่บ้าน ป้องกันติดโควิด-19 จำกัดคนใกล้ตัวผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกลับจากพื้นที่เสี่ยง งดการแสดงความรัก กอด หอม ลูกหลาน ไม่ใช้ของส่วนตัวปนกับใคร

นางภรณี ภู่ประเสริฐ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนันการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลเดินทางกลับภูมิลำเนาจากการประกาศขอความร่วมมือห้างสรรพสินค้าหยุดให้บริการ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19ว่า ผู้เดินทางกลับภูมิลำเนาขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดโดยกักตัวอย่างน้อย 14 วัน และปฏิบัติตัวตามแนวทางสำคัญ ได้แก่ 1. หลีกเลี่ยงการพูดคุยใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง 2. ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น 3. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ ช้อนส้อม 4. ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ นาน 20 วินาที หรือเจลล้างมือที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป 5. หากมีไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า แล้วรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยทันที เพียงเท่านี้ ผู้สูงอายุ ครอบครัวที่เรารักจะปลอดภัยจากโควิด-19

ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน

ผศ.พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน สาขาวิชาอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากสถิติจากผู้ป่วยไวรัสโควิด – 19 ทั่วโลก พบกลุ่มผู้สูงอายุมีอัตราการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยช่วงวัยอื่นๆ ทำให้กังวลว่าผู้สูงอายุกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบสูงนั้น จริงๆ แล้วผู้สูงอายุ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่สุขภาพไม่แข็งแรง ระบบภูมิต้านทานต่ำ มีภาวะขาดอาหาร เป็นโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ไต หรือมะเร็ง ถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง 2.กลุ่มผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคเรื้อรัง สามารถดูแลตัวเองได้ไม่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง ในประเทศจีน จากสถิติผู้สูงอายุกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและสูบบุหรี่ อัตราการเสียชีวิตสูงกว่า แต่ผู้สูงอายุที่มีพื้นฐานร่างกายสุขภาพแข็งแรงมีโอกาสหายเช่นกัน

“กลุ่มเปราะบางไม่ใช่แค่สูงอายุ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น มีโรคประจำตัวหรือไม่ มีภาวะโภชนาการ และภาวะจิตใจเป็นอย่างไร อยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือไม่ ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ถือว่ามีความเสี่ยงติดโควิต-19 คือ กลุ่มผู้สูงอายุในเมือง โดยเฉพาะอยู่ในรัศมีพื้นที่ใกล้เคียงที่มีข่าวการแพร่ระบาด กลุ่มนี้ทุกคนเป็นผู้นำความเสี่ยงมาให้ผู้สูงอายุ แต่สำหรับผู้สูงอายุที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดและอยู่ในระบบชุมชนแบบปิด ไม่มีคนที่มีความเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่ แทบใช้ชีวิตได้ปกติ”ผศ.พญ.สิรินทร กล่าว

ผศ.พญ.สิรินทร กล่าวต่อว่า การจำกัดคนใกล้ตัวผู้สูงอายุ กระบวนการป้องกัน และการบริหารจัดการที่เหมาะสมในการดูแลผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด หากมีลูกหลานที่ต้องทำงานข้างนอก เมื่อกลับถึงบ้านอย่าเพิ่งเข้าใกล้ผู้สูงอายุเลยทันที ควรทำความสะอาดร่างกาย และขจัดการนำพาเชื้อจากข้างนอก ก่อนจะเข้าใกล้ผู้สูงอายุ ช่วงนี้อาจต้องงดการแสดงความรักเช่น การกอด การหอมเอาไว้ก่อน เพราะจะเป็นผลดีต่อผู้สูงอายุมากกว่า ในยุคที่มีเทคโนโลยีสื่อสารที่ล้ำหน้า เราเองสามารถใช้เครื่องมือสื่อสารโทรหากันได้ คุยไลน์ แสดงความห่วงใย โดยไม่ต้องใกล้ชิด

ผศ.พญ.สิรินทร กล่าวอีกว่า สำหรับข้อปฏิบัติผู้สูงอายุ ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ควรจำกัดพื้นที่ เก็บตัวอยู่แต่บ้านจะปลอดภัยกว่า แต่หากผู้สูงอายุอยากออกจากบ้าน ในชุมชนที่เป็นแบบปิด ควรเดินทางด้วยรถส่วนตัวกับครอบครัว แต่หากต้องเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า รถโดยสาร ผู้สูงอายุควรใส่หน้ากาก เนื่องจากในรถโดยสารประจำทางหรือพื้นที่ปิดมีระบบแอร์ไหลเวียนไปมาภายในรถก็มีความเสี่ยง หรือคนที่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ให้รีบมาแล้วรีบกลับ ใส่หน้ากาก ระมัดระวังตัวเอง อย่าสัมผัสจุดเสี่ยง ราว บันได ลูกบิด ฯลฯ เมื่อถึงบ้านควรทำความสะอาดร่างกายและเครื่องใช้ก่อนทุกครั้ง แม้จะไม่ส่งเสริมให้ออกไปมีกิจกรรมนอกบ้านโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าจำเป็นต้องออก ไม่ควรห้ามเขาแต่ป้องกันให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจเกิดความเครียดได้

“เมื่ออยู่ในบ้าน พยายามแยกตัวห่างจากคนที่มีแนวโน้มเสี่ยงเป็นพาหะ ควรใช้อุปกรณ์ส่วนตัวไม่รวมกัยคนในบ้าน ที่สำคัญอย่าไปเครียดกับการไม่ได้ออกไปไหน อยู่บ้านหากิจกรรม เช่น ทำอาหารน้ำปั่นสุขภาพ เพราะอาหารรสชาติเปรี้ยวหวานทำให้สดชื่น ที่สำคัญควรเสริมโปรตีนด้วยเพื่อความแข็งแรง และอย่าลืมออกกำลังกายเป็นประจำง่ายๆ ในบ้าน การนอนเองก็ต้องดี ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ”ผศ.พญ.สิรินทร กล่าว