กรมบัญชีกลางปลดล็อคแนวทางการจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์

3

กรมบัญชีกลางปลดล็อคแนวทางการจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ ให้รวดเร็วขึ้น เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร อันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรค โควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) ซึ่งปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กระทรวงการคลัง ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา หรืออุปกรณ์การแพทย์ หรือการจัดจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งพัสดุที่ใช้ในการป้องกัน ควบคุมหรือรักษา ดังนี้

1. การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุสำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด 19 ในแต่ละครั้ง ทุกวงเงิน ถือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน จึงยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุโดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงินการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ทำข้อตกลงเป็นหนังสือ และวงเงินการจัดซื้อจัดจ้างในการแต่งตั้งผู้ตรวจรับพัสดุ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่เกี่ยวข้อง โดยให้เจ้าหน้าที่เจรจาตกลงราคากับผู้ประกอบการที่มีอาชีพขายหรือรับจ้างนั้นโดยตรง และให้ดำเนินการซื้อหรือจ้างไปก่อน แล้วรีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ และเมื่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นหลักฐานการตรวจรับโดยอนุโลม

2. การดำเนินการตามข้อ 1 หากมีความจำเป็นจะต้องจ่ายเงินค่าพัสดุล่วงหน้าให้แก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง ให้จ่ายได้ตามเงื่อนไขที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างกำหนด และยกเว้นการวางหลักประกันการรับเงินล่วงหน้า โดยแนวทางดังกล่าวให้ใช้ได้จนกว่าจะมีการประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

“การกำหนดแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เพื่อให้การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ยา เวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา อุปกรณ์ ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับ ป้องกัน ควบคุม รักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นไปด้วยความคล่องตัว รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ สามารถช่วยชีวิตของประชาชนได้อย่างทันท่วงที จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่อาจดำเนินการตามปกติได้ทัน หากดำเนินการล่าช้าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะและระบบเศรษฐกิจโดยรวม” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว