เตือนภัยเฝ้าระวังโรคไข้ฉี่หนู เสียชีวิตแล้วปีนี้ 59 ราย

94

การเดินลุยน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ทั้งที่หลีกเลี่ยงได้หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่อาจจะนำพาโรคภัยสู่ร่างกาย เบื้องต้นอาจเกี่ยวกับเรื่องของผิวหนัง ที่อาจพุพองหรือเกิดเท้าเปื่อย และหากร้ายแรงกว่านั้น อาจจะไปขั้นของโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งเป็นเชื่อโรคที่มาพร้อมกับภัยน้ำท่วมในช่วงนี้

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนูในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ธ.ค. 2560  มีรายงานผู้ป่วยแล้ว 3,257 ราย  เสียชีวิต 59 ราย ส่วนภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด คือ ภาคใต้ รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนื  ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยสงสัยเสียชีวิตจากโรคไข้ฉี่หนู จำนวน 4 ราย ใน 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ตรัง ยะลา สงขลา และสุราษฎ์ธานี 

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า  การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้  คาดว่าในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้ฉี่หนูเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้ในบางพื้นที่เป็นช่วงที่น้ำลด อาจทำให้ความเข้มข้นของเชื้อที่ปนเปื้อนในน้ำสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในหลายจังหวัดภาคใต้  

สำหรับโรคไข้ฉี่หนู เกิดจากแบคทีเรียในฉี่ของหนู โค กระบือ สุกร สุนัข ที่ติดเชื้อ เชื้อจะถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะปนเปื้อนอยู่ตามน้ำดินที่เปียกชื้น ในแอ่งน้ำขังเล็กๆ โดยเชื้อสามารถไชเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังผ่านแผลถลอก ขีดข่วน และเยื่อบุของปาก ตา จมูก และยังไชเข้าผิวหนังปกติที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ  

กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำให้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขังเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นควรใส่รองเท้าบู๊ท สวมถุงมือยาง ถ้ามีแผลควรปิดด้วยวัสดุกันน้ำ และไม่ควรเดินย่ำในพื้นที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะบริเวณแอ่งน้ำขังเล็กๆ หรือในดินโคลนช่วงทำความสะอาดบ้าน เนื่องจากปริมาณเชื้อฉี่หนูจะมีความเข้มข้นสูง ทำให้ผู้ที่มีบาดแผลหรือมีรอยถลอกที่บริเวณเท้า ขา หรือมือจะเพิ่มความเสี่ยงสูงมาก  

หากประชาชนเดินลุยน้ำท่วมขังแล้ว ป่วยตามอาการข้างต้น อาจป่วยด้วยโรคไข้ฉี่หนูได้ ขอให้รีบพบแพทย์ทันทีพร้อมแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำ ลุยโคลน หรือหากมีข้อสงสัยเรื่องโรคและภัยสุขภาพสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

ข้อมูลจากโรงพยาบาลกรุงเทพ ระบุว่า โรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เกิดจากเชื้อกลุ่ม Leptospira มักพบการระบาดในหน้าฝน หรือช่วงที่มีน้ำท่วมขัง สัตว์ที่แพร่เชื้อโรคนี้ ได้แก่ พวกสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู โดยที่ตัวมันไม่เป็นโรค สัตว์พวกนี้เก็บเชื้อไว้ที่ไต ดังนั้นเมื่อฉี่ออกมาจะมีเชื้อนี้ปนอยู่ด้วยจึงเป็นที่มาของคำว่า “โรคฉี่หนู” นอกจากจะพบเชื้อนี้ในหนูแล้วยังพบได้ใน สุนัข วัว ควาย เชื้อโรคนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ 2 ทางคือ ทางตรง โดยการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้ออยู่ หรือ โดนสัตว์ที่มีเชื้อกัด และทางอ้อม เช่น เชื้อจากฉี่หนูปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเข้าสู่คนทางบาดแผล มือสัมผัสเชื้อที่ปนอยู่ในน้ำหรือดิน แล้วเอาเชื้อเข้าทางเยื่อบุในปาก ตา จมูก กินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป

อาการที่แสดง มักเริ่มมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4-14 วัน (โดยเฉลี่ย 10 วัน) เมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้เกิดอาการ ไข้สูงหนาวสั่น ปวดหัวรุนแรง ตาแดง ปวดกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง ขา เอว เวลากดหรือจับจะปวดมาก นอกจากนี้ยังอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน บางรายมี อาการปวดท้อง ท้องเสีย บางรายอาการรุนแรงจนกระทั่งตับวาย ไตวาย และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

ทั้งนี้ได้แนะนำว่า ควรหลีกเลี่ยงการลุยน้ำในช่วงน้ำท่วม หรือป้องกันบาดแผลหากจำเป็นต้องแช่น้ำเป็นเวลานาน โดยสวมรองเท้าบู๊ทยางกันน้ำ หรือใช้ถุงพลาสติกสะอาดหรือวัสดุกันน้ำอื่นๆ ห่อหรือคลุมขาและเท้าบริเวณที่มีบาดแผลเอาไว้เมื่อพ้นจากน้ำแล้วต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่แล้วเช็ดให้แห้งโดยเร็วที่สุด ระวังไม่ให้น้ำกระเด็นเข้าตาหรือปาก เก็บอาหารและภาชนะให้มิดชิด ห้ามกินน้ำตามแหล่งธรรมชาติในช่วงน้ำท่วมหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรกรองและต้มน้ำให้ร้อนจัดก่อน ล้างผักให้สะอาดก่อนรับประทาน ควรเลือกกินผักต้มมากกว่าผักดิบในช่วงน้ำท่วม ผลไม้ควรล้างให้สะอาดและปอกเปลือกก่อนรับประทาน ระวังการบริโภคน้ำแข็งในช่วงนี้เพราะเชื้อฉี่หนูมีชีวิตอยู่ได้ในน้ำแข็ง พยายามลดปริมาณขยะและควรติดต่อหน่วยงานในท้องถิ่นให้นำขยะไปทำลายให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้