กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระตุ้นผู้ประกอบการที่ค้าขายบนออนไลน์ (อี-คอมเมิร์ซ) ขอรับเครื่องหมาย DBD Registered พร้อมจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง สร้างความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค ย้ำ!! ท่ามกลางโรคโควิด-19 ผู้ประกอบการควรเร่งปรับวิกฤตให้เป็นโอกาส เน้นค้าขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หากทำดีจริง โอกาสรุ่งมีมาก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อยประสบปัญหาไม่สามารถขายสินค้าผ่านหน้าร้านปกติ (ออฟไลน์) ได้ ส่วนหนึ่งหันมาทำการค้าขายผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทั้งการขายผ่านตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) ผ่านเว็บไซต์ของตนเอง หรือ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ฯลฯ นับเป็นโอกาสที่ดีในการขยายช่องทางการตลาดให้กว้างขึ้น รองรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าต่างๆ โดยไม่ต้องออกจากบ้าน ฉะนั้น จึงเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการจึงควรเร่งเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างระบบการค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น”
“เพื่อให้การทำธุรกิจบนออนไลน์มีความน่าเชื่อถือ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ทุกช่องทาง ขอรับเครื่องหมาย DBD Registered เพื่อรับรองว่าผู้ขายมีตัวตนและร้านค้าจริง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า/บริการ ซึ่งจะส่งผลถึงยอดขายโดยรวมในอนาคต ทั้งนี้ การขอรับเครื่องหมาย DBD Registered ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการได้ทันที ผ่านทาง www.trustmarkthai.com หลังจากกรอกข้อมูลผ่านระบบเรียบร้อย ระบบจะจัดส่งเครื่องหมาย DBD Registered ให้ผู้ขอรับเครื่องหมายฯ เพื่อนำไปแปะบนหน้าเว็บไซต์หรือช่องทางการขายออนไลน์ของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ ควรต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคู่กันไปด้วย เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยสามารถจดทะเบียนพาณิชย์ได้ตามสถานที่ตั้งของผู้ประกอบการ หากสถานที่ตั้งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ สำนักงานเขต หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังของกรุงเทพมหานคร และหากสถานที่ตั้งตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค จดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ เทศบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โดยมีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนฯ เพียง 50 บาทเท่านั้น”
“เบื้องต้น กรมฯ ได้จัดทำหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการเจ้าของตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อี-มาร์เก็ตเพลส) รายใหญ่ เช่น Shopee, Lazada, JD Central ฯลฯ ให้กระตุ้นและเชิญชวนผู้ประกอบการดำเนินการขอรับเครื่องหมาย DBD Registered และจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง เพื่อให้ระบบการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของไทยมีความน่าเชื่อถือ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค เป็นการยกระดับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซให้มีศักยภาพเทียบเท่าระดับสากล สร้างโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการขยายช่องทางการตลาดให้มีความหลากหลาย และพร้อมที่จะขยายตลาดสู่ต่างประเทศมากขึ้น”
“ทั้งนี้ การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ “ความน่าเชื่อถือ” นับเป็นหัวใจสำคัญที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคไม่ได้สัมผัสจับต้องสินค้าโดยตรง เห็นสินค้าเฉพาะบนหน้าเพจของผู้ประกอบการเท่านั้น ดังนั้น การแสดงความมีตัวตนและร้านค้าของผู้ประกอบการจึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภค นอกจากนี้ สินค้าที่นำมาขายก็ต้องมีคุณภาพดีได้มาตรฐาน ราคาสมเหตุสมผล ผู้ประกอบการเองก็ต้องมีความซื่อสัตย์ มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า จัดส่งสินค้ารวดเร็ว สามารถแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้หากซื้อสินค้ากับทางร้าน ซึ่งองค์ประกอบที่กล่าวมาจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือระยะยาวให้แก่ธุรกิจ” รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย
จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า สถิติเรื่องร้องเรียน/ปัญหาออนไลน์ ในปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 29,626 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 2,469 ครั้ง ปี 2562 จำนวนทั้งสิ้น 42,947 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 3,579 ครั้ง และ ปี 2563 (มกราคม – มีนาคม) 9,613 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 3,204 ครั้ง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่อง 1) เว็บไซต์ผิดกฎหมาย 2) การซื้อขายทางออนไลน์ และ 3) ปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์
สถิติการร้องเรียนซื้อขายทางออนไลน์ ปี 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 17,558 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,463 ครั้ง ปี 2562 จำนวนทั้งสิ้น 21,148 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,762 ครั้ง และ ปี 2563 (มกราคม – มีนาคม) 4,786 ครั้ง เฉลี่ยเดือนละ 1,595 ครั้ง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่อง 1) ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) 2) ได้รับสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง (ผิดสีผิดขนาด) ไม่ได้รับตามโฆษณา 3) ได้รับสินค้าชำรุด 4) ได้รับสินค้าผิดกฎหมาย (สินค้าปลอม) และ 5) ได้รับสินค้าล่าช้ากว่ากำหนด นอกจากนี้ ยังมีการขอคำปรึกษาด้านการซื้อขายออนไลน์ เช่น ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย มากถึงร้อยละ 40 ของจำนวนเรื่องร้องเรียนทั้งหมด