การระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้สถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนรูปแบบการสอนครั้งใหญ่ ตอนนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยได้ปรับโหมดสู่การสอนออนไลน์อย่างเต็มตัว ส่วนครูในโรงเรียนต่างๆ อยู่ระหว่างเตรียมการสอนสำหรับการเปิดเทอมใหม่ของปีการศึกษา 2563 ซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
อย่างไรก็ตาม เพราะไม่อาจคาดการณ์ได้ชัดเจนว่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร บวกกับสถานการณ์ที่ต้อง Social Distancing ทำให้การพบปะพูดคุยกันแบบเดิมเปลี่ยนไปเป็นการสื่อสารผ่านหน้าจอโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอแบบนี้นานๆ คนเดียว โดยไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันแบบ Face to Face ก็อาจทำให้ครูและอาจารย์เกิดอาการ Burnout หรือภาวะหมดไฟในการทำงานได้
EDUCA รวบรวม 9 เทคนิคสำหรับการ Teach from Home ทั้งการเตรียมการสอนสำหรับช่วงเปิดเทอม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญให้กับครูสามารถจัดการตัวเองทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1.เตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์และโปรแกรม แม้จะมีหลายโปรแกรมที่ครูสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ฟรี ในการสอนออนไลน์ แต่บางโปรแกรมก็อาจมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ระยะเวลาในการออนไลน์ หรือจำนวนผู้เข้าร่วมกลุ่ม ซึ่งหากครูต้องการใช้งานโปรแกรมได้เต็มรูปแบบจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ดังนั้น ควรสอบถามถึงการสนับสนุนไปทางโรงเรียน โดยโรงเรียนบางแห่งมีความพร้อมที่จะซื้อโปรแกรมสำหรับใช้งานรายปีให้กับครู ทั้งระดับชั้น โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมนี้ หากครูมีโปรแกรมช่วยบันทึกคะแนนนักเรียน หรือโปรแกรมช่วยตรวจข้อสอบ ก็จะช่วยลดภาระงานของครูได้มากทีเดียว
2.ทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้าน ถ้าต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางของบ้านในการสอนออนไลน์ ก็ควรพูดคุยและ ทำความเข้าใจกับสมาชิกในบ้านก่อนว่ามีสิ่งใดบ้างที่พวกเขาสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือไม่ควรทำอะไรที่จะรบกวนการสอนออนไลน์ สำหรับบ้านที่มีเด็กก็ต้องหาพื้นที่ให้น้องๆ ได้ทำกิจกรรมเป็นสัดส่วนในขณะนั้น หรือบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงก็ต้องให้สมาชิกในบ้านมาช่วยดูแลแทนก่อน
3.ทำภารกิจส่วนตัวให้เรียบร้อย ควรทำภารกิจส่วนตัวต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อนเริ่มสอน ทั้งการอาบน้ำ แต่งตัว การรับประทานอาหาร ชงกาแฟ รวมถึงการอัปเดตข่าวสาร เช็กอีเมล์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าครูเสียเวลาไปกับกิจกรรมเหล่านี้เป็นระยะๆ ระหว่างการทำงานก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวมได้
4.วางแผนงานที่ต้องทำ วางแผนการทำงานให้ชัดเจนว่าแต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง และต้องใช้เวลานานเท่าไร โดยเรียงลำดับจากงานที่สำคัญที่สุดก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่วางแผนเกี่ยวกับงานด้านการสอนอย่างเดียว ควรมองครอบคลุมไปถึงงานบ้านที่ต้องทำด้วย
5.ตั้งเตือนเวลาบนมือถือ เพราะการสอนจากที่บ้านไม่มีเสียงออดหรือระฆังคอยเตือนเวลาเหมือนการสอน ที่โรงเรียน ดังนั้น ครูควรตั้งเวลาในการจัดการเวลา โดยอาจใช้โทรศัพท์มือถือในการกำหนดเวลา หรือตั้งเตือนสำหรับงานที่ต้องทำ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว เรามักใช้เวลาทำงานต่างๆ นานกว่าที่เราคาดการณ์ไว้
6.เตรียมอาหารการกินให้พร้อม ครูควรเตรียมอาหารให้เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่คืนก่อนหน้า หรือในตอนเช้า เพื่อลดความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นระหว่างวัน พร้อมทั้งกำหนดเวลาพักรับประทานอาหารและเวลาพักเบรกสั้นๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้สมองและร่างกายไม่ล้าจนเกินไป
7.ออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ Teach from Home ไม่ได้หมายความว่าต้องสอนหรือทำงานอยู่ในตัวบ้านอย่างเดียว ครูอาจเลือกว่าในแต่ละวันจะทำงานตรงไหนของบ้าน ซึ่งอาจเปลี่ยนบรรยากาศมาสูดอากาศหรือทำงานในสวนก็ได้ ขอเพียงเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้เป็นอย่างดี เพื่อให้การทำงานไม่ติดขัด และไม่มีเสียงรบกวนจากภายนอก เพราะหัวใจสำคัญคือ การสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศการทำงานที่มีความสุข
8.ทำงานอดิเรก หลังจากทำงานอย่างเต็มที่แล้วก็อย่าลืมให้เวลากับงานอดิเรกที่ตัวเองชื่นชอบ เพื่อได้ทำในสิ่งที่รัก และเป็นการผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน หรืออาจหากิจกรรมสนุกๆ ทำอย่างการออกกำลังกายผ่าน YouTube ทำกับข้าวหรือขนมอร่อยๆ อ่านหนังสือ หรือดูซีรีส์ เป็นต้น
9.พูดคุยกับเพื่อนครูคนอื่น ช่วงเวลาของการอยู่บ้านสำหรับการเตรียมการสอนสำหรับเทอมหน้า ตรวจข้อสอบเด็ก หรือสอนออนไลน์ ทำให้ครูไม่ได้พบปะเพื่อนครูบ่อยเหมือนเดิม ซึ่งไม่แปลกถ้าครูจะรู้สึกเหงาบ้าง แต่ครูสามารถใช้กลุ่มแชทในการพูดคุย หรือปรึกษาประเด็นต่างๆ กับเพื่อนครู ไม่ว่าจะการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ สอบถามเรื่องงาน หรือเรื่องสัพเพเหระทั่วไป
ทั้งนั้น แม้การปรับรูปแบบการสอนและการทำงานเป็นแบบออนไลน์จะเป็นเรื่องใหม่สำหรับครูไทย เพราะมีความ ท้าทายกับเครื่องมือและโปรแกรมที่อาจยังไม่คุ้นชิน รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันครั้งใหญ่ แต่วิกฤติโควิด-19 ถือเป็นโอกาสที่ทำให้ครูได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ ครูต้องไม่ลืมรักษาสมดุลระหว่างการทำงาน และดูแลสุขภาพกายใจให้มั่นคง เพื่อก้าวผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน