กรมกิจการสตรีฯ เดินหน้าหนุนมาตรการ สางปัญหาคุกคามทางเพศในการทำงาน

7

ปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม เดิมทีเคยมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้มาแล้ว แต่ยังอาจจะยังไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อการสางปัญหา ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 12 ข้อ 

นางสาววิจิตา รชตะนันทิกุล รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน 12 ข้อ ซึ่งมีสาระสำคัญในหลักการที่หน่วยงานต้องถือปฏิบัติ เช่น การประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษร การจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อให้ความคุ้มครองบุคลากรทุกคนของหน่วยงาน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากร การกำหนดกลไกการร้องทุกข์ภายในหน่วยงาน การจัดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง รวดเร็ว และเป็นความลับ รวมถึงการมีมาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน พยาน และผู้ถูกกล่าวหา และได้เห็นชอบให้กระทรวง พม. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) เป็นศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน (ศปคพ.) โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว และติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการฯ โดยรายงานต่อคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ทั้งนี้ มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ เคยประกาศใช้มาแล้วเมื่อปี 2558 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ข้อ แต่จากการดำเนินงาน ที่ผ่านมาพบว่า มาตรการดังกล่าว ไม่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองผู้ร้องเรียน พยาน รวมถึงผู้ถูกกล่าวหาอย่างแท้จริง และนอกจากนี้ยังพบว่าหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานยังมีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานเกิดขึ้น ซึ่งจากแบบรายงานผลเมื่อปี 2560 – 2561 ที่ สค. ได้จัดส่งไปยังหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ จำนวนทั้งสิ้น 196 หน่วยงาน มีหน่วยงานที่รายงานผลมายัง สค. รวมทั้งสิ้น 179 หน่วยงาน ซึ่งพบว่า 165 หน่วยงาน ไม่มีปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศฯ คิดเป็นร้อยละ 92.18 และมีหน่วยงานที่มีปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศฯ จำนวน 14 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 7.82

มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จะบังคับใช้ในหน่วยงานภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ สำหรับภาคเอกชน พม. จะดำเนินการขอความร่วมมือให้นำมาตรการดังกล่าว ไปดำเนินการในหน่วยงานตามความเหมาะสม ซึ่งมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ ที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะทำให้บุคลากรในหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ได้รับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น และมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ถูกกระทำ พยาน รวมทั้งผู้ที่ถูกร้องเรียน

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการฯ ในระยะนี้ คือ ขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานประกาศเจตนารมณ์ ให้บุคลากรในหน่วยงานรับทราบและถือปฏิบัติ พร้อมทั้งจัดทำแนวปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดฯ โดยความร่วมมือของบุคลากรในหน่วยงาน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรในหน่วยงานว่าผู้บริหารให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว และจะมีการดำเนินการอย่างจริงจังหากมีกรณีเกิดขึ้น สำหรับ ศปคพ. จะทำหน้าที่ในการเป็นศูนย์ฯ ให้ความรู้ คำแนะนำ และเป็นผู้ประสานงานหลักในการรับเรื่องร้องเรียน กรณีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศฯ โดยจะประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และติดตามผลการดำเนินการดังกล่าว

ทั้งนี้ สามารถร้องทุกข์ภายในหน่วยงานได้ เช่น ผู้บังคับบัญชาทุกระดับของผู้กระทำ หรือฝ่ายการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายกฎหมาย หรือกลุ่มคุ้มครองคุณธรรมจริยธรรม หรือร้องทุกข์ได้ที่ ศปคพ. สค. รวมถึง ศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 บริการฟรี 24 ชั่วโมง ซึ่งกระทรวง พม. พร้อมให้คำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ นางสาววิจิตา กล่าว