สธ.กระตุ้น ปรับพฤติกรรมสู้โควิด-19

7

กระทรวงสาธารณสุข ย้ำหลังมาตรการผ่อนคลาย ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินควบคุมโรคโควิด 19 คงเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ จับตาทุกความเสี่ยงที่อาจทำให้ยอดผู้ติดเชื้อกลับมาสูงอีกได้ กระตุ้นหน่วยงานรัฐ-เอกชน ออกแบบระบบ ทบทวนพฤติกรรมการทำงาน ระบบการเรียนการสอนสู่ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม รองรับการทำงาน ยอมรับโควิด 19 ยังอยู่อีกนาน ต้องรอวัคซีนพร้อมเพื่อป้องกันโรค

บ่ายวันนี้ (28 เมษายน 2563) ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้จะมีมาตรการผ่อนคลายบางส่วน แต่ทีมสอบสวนควบคุมโรคและทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง จากนี้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรปรับแนวทางการทำงานที่จะไม่เหมือนเดิม อาทิ การทำงานจากบ้าน (Work from Home) อาจจะกลายเป็นความจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยง ภาครัฐควรจะทำให้ได้ถึงร้อยละ 70 ส่วนภาคเอกชนต้องพิจารณาว่าจะปรับส่วนไหนได้บ้าง ต้องจัดให้เหลื่อมเวลาการทำงาน ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง หรือชั่วโมงทำงานแต่ละวันที่ไม่เท่ากัน และต้องยึดหลักเกณฑ์ลดการสัมผัส ไม่สร้างการรวมกลุ่มที่จะเสี่ยงติดเชื้อให้เกิดขึ้นได้อีก เพราะเรายังต้องอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19 ต่อไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องไม่เพียงแต่การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร การออกแบบทางวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรมที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องการป้องกันละอองฝอยของสารคัดหลั่ง การทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสของวัสดุ ระบบคัดกรองคนทำงาน การออกระเบียบให้คนทำงานสามารถหยุดงานได้โดยไม่นับเป็นวันลาป่วยหากมีอาการเข้าได้กับโควิด รวมทั้งการเข้มงวดเรื่องสิ่งป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สิ่งเหล่านี้จะต้องทำให้เป็นมาตรฐาน และทุกกิจการที่จะเข้าสู่การผ่อนคลายต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการควบคุมการติดเชื้อ และการป้องกันการแพร่กระจายเป็นสำคัญอีกด้วย

“จากนี้ไปอีกประมาณ 2 เดือนที่โรงเรียนจะกลับมาเปิดเรียนเป็นปกติ ยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยร่วมกันหลายส่วน แม้สถิติออกมาว่าเด็กไม่ค่อยแสดงอาการหากติดเชื้อ แต่ที่ห่วงคือ ครู อาจารย์ พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้สูงอายุในบ้าน หากเด็กรับเชื้อมาจากโรงเรียนแล้วมาแพร่ที่บ้านจะเป็นความเสี่ยงใหม่ที่ท้าทาย อาจถึงเวลาที่ต้องมาวางแผนเรื่องการเปลี่ยนผ่านดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม เพื่อไปสู่วิถีใหม่ทั้งการทำงานและการเรียน น่าจะเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนเช่นกัน” นพ.ธนรักษ์กล่าว