ม.อ.พัฒนาชุดทดสอบ PSU COVID-19 Rapid Test เพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพ รู้ผลการตรวจภายในเวลา 15-20 นาที สามารถวินิจฉัยคัดกรองการติดเชื้อในเบื้องต้นได้ และช่วยลดความเสี่ยงจากการติด COVID-19 ของบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง
ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ ม.อ. เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีศักยภาพและความพร้อมในการนำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคการแพทย์ ตลอดจนบุคลากรทางด้านการวิจัยที่มีความสามารถจากทีมนักวิจัยจากหลายคณะเข้ามาร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ COVID-19 จนประสบความสำเร็จ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในการลดการแพร่ระบาดของโรค ตามปณิธาณของมหาวิทยาลัยที่ยึดมั่นในการเป็นสถาบันการศึกษาที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังได้ร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เพื่อทำงานให้กับประชาชนทุกคนให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติหรือกลับมาเป็นปกติ ในช่วงเวลาที่ต้องรอการพัฒนาวัคซีนหรือยารักษา COVID-19 ซึ่งเชื่อว่า ด้วยความร่วมมือทุ่มเทกันอย่างหนักของทุกภาคส่วนในสังคมไทย จะทำให้ประเทศไทยสามารถชนะ COVID-19 ในครั้งนี้ได้
ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม ม.อ. กล่าวว่า ความสำเร็จในการพัฒนาชุดตรวจ PSU COVID-19 ได้สำเร็จ เกิดจากการนำองค์ความรู้ความสามารถของนักวิจัยจากหลากหลายคณะของมหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมกันจนประสบความสำเร็จในการพัฒนาชุดตรวจ COVID-19 ในราคาไม่แพงและทราบผลการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับการวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ต้องใช้วิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม (RNA) ของไวรัส จากสารคัดหลั่งบริเวณทางเดินหายใจ ซึ่งต้องใช้บุคลาการที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงานและแปลผลการตรวจ ใช้ระยะเวลาการตรวจที่นานประมาณ 2-3 ชั่วโมง อีกทั้งเครื่องมือมีราคาสูงไม่เหมาะกับงานภาคสนาม และยังมีความเสี่ยงทำให้บุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างมีโอกาสติดเชื้อไวรัสได้ เนื่องจากต้องสัมผัสกับคนไข้ในระหว่างการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากทางเดินหายใจ ซึ่งมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในปริมาณสูง
ผศ.ดร.ธีรกมล เพ็งสกุล คณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าโครงการชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 กล่าวว่า ชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (PSU COVID-19 Rapid Test) นี้ จะสามารถช่วยคัดกรองเบื้องต้น ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่จะสัมผัสกับเชื้อ (person under investigation หรือ PUI) ซึ่งสามารถระบุได้ว่าเบื้องต้นผู้ป่วยอยู่ในระยะใดของการติดเชื้อ หากการวินิจฉัยเบื้องต้นพบผลบวก ก็สามารถส่งต่อเพื่อตรวจยืนยันได้ นอกจากนี้หากเคยได้รับเชื้อและหายแล้วก็ยังตรวจได้ การตรวจใช้ตัวอย่างเลือด และใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ในการทดสอบ การพัฒนาชุดตรวจครั้งนี้ ได้ใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งนักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร และคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้คนไทยทุกคนผ่านวิกฤตไปด้วยกัน
“โครงการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัส COVID-19 ชุดตรวจนี้ใช้สำหรับตรวจคัดกรองผู้ป่วยในกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว ใช้หลักการ immunochromatography (ICT) ในการตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างต่อเชื้อทั้งชนิด IgM และ IgG และจำเพาะต่อโปรตีนของเชื้อไวรัสก่อโรค COVID-19 โดยวิธี ICT เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจเนื่องจากทำได้ง่าย รวดเร็ว มีความคงตัว มีความไวและความจำเพาะสูง สามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งการตรวจหาการติดเชื้อในเบื้องต้น และตรวจติดตามการพัฒนาภูมิคุ้มกันของร่างกาย ใช้เวลาในการตรวจเพียง 15-20 นาที ชุดตรวจเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจมีปริมาตรน้อย ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (2-3 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว พลาสมาหรือซีรัม
ตัวอย่างเหล่านี้มีปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรจากการเก็บตัวอย่าง อีกทั้งยังเหมาะกับการตรวจภาคสนามที่บุคลากรทางการแพทย์ตรวจจากผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดการแพร่เชื้อ และการลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลได้” ผศ.ดร.ธีรกมล กล่าว