อว.สร้างงาน สร้างคน สร้างชุมชนสู้วิกฤต

22

ว่างงาน ตกงาน อยากมีงาน หรือ อยากหาประสบการณ์การทำงาน ฟังทางนี้  กระทรวงการอุดมศึกษาฯ เปิดตัวโครงการ “อว.สร้างงาน” จ้างงานประชาชน 1 หมื่นคนไม่จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่จบ ไม่เกี่ยงประสบการณ์ ให้ค่าตอบแทนเดือนละ 9 พันบาท ระยะเวลา 5 เดือน แถมทำแล้วอยากพัฒนาทักษะไปประกอบอาชีพใหม่ เปิดโครงการการบ่มเพาะธุรกิจให้ฟรี

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ จัดทำโครงการสร้างงาน สำหรับประชาชนที่ว่างงาน อันเนื่องจากสถานการณ์โควิด -19  ซึ่งจะเป็นการจ้างงานประชาชน จำนวน 10,000 คน เป็นระยะเวลา 5 เดือน มีค่าตอบแทนให้เดือนละ 9,000 บาท ไม่ได้จำกัดวุฒิการศึกษา อายุ สาขาวิชาที่สำเร็จการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

โครงการสร้างงานสำหรับประชาชน จำนวน 10,000 คน จะเข้ามาทำงานภายใต้หน่วยงานของ อว. จำนวน 42 หน่วยงาน ซึ่งจะเป็นหน่วยงานจ้างงาน ที่จะจ้างงานประชาชนให้มาทำงานภายใต้ภารกิจของหน่วยงานนั้นๆ  โดยผู้ได้รับการจ้างงาน นอกจากจะได้งานทำแล้วยังจะได้รับการพัฒนาทักษะทางวิชาการในด้านต่างๆ แตกต่างกันไป ทั้งนี้ หน่วยงานจ้างงานทั้ง 42 แห่งของ อว. จะทำหน้าที่รับสมัคร การมอบหมายงาน การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ได้รับการจ้างงาน การฝึกทักษะที่จำเป็นต่อการทำงาน การติดตามและประเมินผล เป็นต้น ที่สำคัญ โครงการนี้ หากผู้ที่ได้รับการจ้างงานต้องการนำทักษะ ที่ได้รับการจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ สามารถเข้าร่วมโครงการการบ่มเพาะธุรกิจของหน่วยงานของ อว.ได้เลย

“หน่วยงานที่จะจ้างงาน ประกอบด้วย  สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ 39 แห่ง   โดยงานที่ผู้ที่ได้รับการจ้าง จะไปทำงานกระจายอยู่ในท้องถิ่น หรือชุมชนต่างๆ มากกว่า 1,500 ชุมชน โดยจะทำงานเน้นหนักการพัฒนาชุมชนเมือง ชุมชนชนบท อาทิ การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคติดต่อชุมชน ทำการช่วยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลชุมชนที่สำคัญต่อการเฝ้าระวัง  ช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดแนวทางในด้านสาธารณสุขชุมชน การพัฒนาระบบ Smart Farming ในชุมชน ทำการช่วยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลด้านการเกษตรในชุมชน ช่วยในการวางแผนการพัฒนาระบบ Smart Farming รายเกษตรกร ช่วยในการจับคู่เทคโนโลยี ที่เหมาะสม ช่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยี Smart Farming ที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น การจัดการขยะชุมชน ช่วยงานถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการจัดการขยะที่สามารถดำเนินการได้ในระยะสั้น การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ช่วยสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้อง ช่วยในการวางแผนและวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ช่วยงานสำรวจข้อมูลในด้านที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เป็นต้น” ดร.สุวิทย์ กล่าวและว่า

สำหรับ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ จำนวน  39 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการนี้ อาทิ  มหาวิทยาลัยทักษิณ (จ.พัทลุง) มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เป็นต้น

นอกจากนี้  ยังมี สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ให้ไปทำโครงการคืนผืนป่าให้ประชาชน ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องปฏิบัติงานได้แก่ การสำรวจพื้นที่ การจัดทำเขตหมู่บ้าน การจัดทำแผนจัดการทรัพยากรที่ดินป่าไม้ การสำรวจข้อมูลรายแปลง เป็นต้น ซึ่งจะครอบคลุมการทำงานในพื้นที่ 2,324,037 ไร่ 16 จังหวัด  สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) ทำเรื่อง โครงการช่วยเหลือการผลิตแก่เอสเอ็มอีและโอทอป  ในโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร  ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องปฏิบัติงานได้แก่ การวางแผนการผลิต การใช้เครื่องมือในการผลิต การควบคุมการผลิต การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต   และ กองทุนส่งเสริม วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ไปช่วยเหลือเกษตรกร โดยการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปช่วย ซึ่งผู้ที่ได้รับการจ้างงาน จะต้องปฏิบัติงานได้แก่ การช่วยในเทคโนโลยีการแปรรูปมะม่วง เทคโนโลยีการจัดเก็บและยืดอายุของผลผลิตมะม่วง การช่วยผลิตชุดปลูกผัก การช่วยแปรรูปผลไม้ในรูปผลไม้แช่แข็ง เป็นต้น

“โครงการ อว.สร้างงาน แม้จะเป็นมาตรการระยะสั้นระยะเวลา 5 เดือน แต่จะเป็น 5 เดือนที่มีค่าหากผู้เข้าร่วมโครงการนำไปต่อยอดหรือนำทักษะ ที่ได้รับการจากการทำงานไปประกอบอาชีพใหม่ ซึ่ง อว.พร้อมที่จะเปิดรับให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมโครงการการบ่มเพาะธุรกิจของหน่วยงานของ อว.ได้เลย  และในระยะต่อไป อว.ก็ได้เตรียมเสนอของบประมาณในส่วนของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน เพื่อการจ้างงาน รวมถึงการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ ซึ่งจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เกษตรกร ตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยได้” ดร.สุวิทย์ ระบุ

การจ้างงานในครั้ง มุ่งหวังไปที่การฝึกทักษะและสร้างประสบการณ์ให้ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนั้นผู้ที่ไม่สามารถร่วมโครงการ คือ กลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือแล้ว อย่างกลุ่มรับเงินเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” 5,000 บาท และเกษตรกรที่ลงทะเบียนรับความช่วยเหลือ

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามประกาศการสมัครและคัดเลือกจากหน่วยงานในพื้นที่ของท่าน ภายใน 15 พ.ค. นี้ นอกจากจะได้วิชาความรู้แล้ว ยังได้ช่วยเหลือและพัฒนาชุมชนให้สามารถทางรอดจากวิกฤตครั้งนี้ด้วย