ม.มหิดล เปิดเพจ WeMahidol Enterprise สู้วิกฤต Covid-19

28

บนเส้นทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างนักศึกษาให้มี Entrepreneurial Mind เพื่อช่วยในการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิสรัปชั่น โดยไม่ได้หมายถึงแต่การเป็นผู้ประกอบการ แต่ต้อง “กล้าคิด กล้าทำ และกล้าเปลี่ยนแปลง” สู่สิ่งที่ดีขึ้น

“Mahidol HIDEF” เป็นโมเดลที่มหาวิทยาลัยมหิดลสร้างขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 สำหรับนักศึกษาใน 5 ด้าน ได้แก่ 1) Health Literacy : ความเข้าใจและสามารถดำเนินชีวิตให้เป็นผู้มีสุขภาพดี 2) Internationalization : ความเป็นนานาชาติ 3) Digital Literacy : ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 4) Environmental Literacy : ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านสิ่งแวดล้อม และ 5) Financial Literacy : ความเข้าใจและปฏิบัติเป็นในด้านการเงิน เศรษฐกิจ และธุรกิจ

เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกองกิจการนักศึกษา ร่วมกับ องค์กรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำ FB Group ที่มีชื่อว่า “WeMahidol Enterprise” เพื่อช่วยเหลือร้านค้าภายในมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ให้มีพื้นที่ตลาดออนไลน์ (Online Marketplace) ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษามี Entrepreneurial Mind และทักษะ Mahidol HIDEF โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับคะแนนรับรองการเข้าร่วมกิจกรรม (AT – Activity Transcript) ที่จะปรากฏอยู่ในใบแสดงผลการศึกษาเมื่อนักศึกษาสำเร็จการศึกษา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ก่อนวิกฤต Covid-19 เราคิดจะทำ Job Fair ในมหาวิทยาลัย ให้หน่วยงาน-บริษัทชั้นนำต่างๆ มาเปิดบูธ แล้วให้ศิษย์ปัจจุบันที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา รวมทั้งศิษย์เก่าที่ยังไม่มีงานทำได้มีโอกาสเข้ามา และพูดคุยกับนายจ้างเพื่อจะสมัครงาน แต่พอเกิดวิกฤต Covid-19 ทำให้งาน Job Fair ต้องเลื่อนออกไป ตนจึงมองเห็นโอกาสที่จะทำตลาดนัดออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาทุกคน ทั้งที่เป็นศิษย์ปัจจุบัน และศิษย์เก่า ตลอดจนบุคลากร และร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต Covid-19 ได้เข้ามาร่วมด้วย โดยการริเริ่มสร้าง platform เพื่อเปิดพื้นที่ตลาดที่มุ่งผลระยะยาว ใน FB : WeMahidol Enterprise ที่ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการดูแลเพจด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต

“สำหรับนักศึกษาที่เดือดร้อนจริงๆ ก็สามารถใช้พื้นที่ WeMahidol Enterprise ในการประกาศหางานพิเศษ หรือขายสินค้า เพื่อให้ศิษย์เก่า บุคลากร และสมาชิกในเพจ ที่มีกำลังซื้อ หรือมีงานพิเศษที่อยากได้นักศึกษามาช่วยงาน สามารถมองเห็นได้” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าว

ด้าน ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร และหัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวเสริมในฐานะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดว่า WeMahidol Enterprise เป็นโครงการที่ดีของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการช่วยสร้าง community ที่เปิดโอกาสให้พี่น้องช่วยเหลือกัน เป็นสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดลที่จะต้องมีการช่วยเหลือในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ลงมาถึงระดับอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของทุกหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย เป็นช่องทางลองตลาด ขยายตลาด แล้วเราอุดหนุนกันได้ จะทำให้เกิดแรงกระตุ้นผลักดันให้ WeMahidol Enterprise สามารถไปต่อได้ในระยะยาว

นอกจากนี้ ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา CMMU ได้มีการทำงานวิจัย “Lazy Consumer” เป็นการหาคำตอบว่า จะทำอย่างไรให้ “ผู้ซื้อ” (Consumer) ได้รับความสะดวกความสบายมากที่สุดในการเลือกซื้อสินค้า ที่สามารถตอบสนอง “ความรักสบาย” (Laziness) ตามหลักจิตวิทยาทางการตลาด ซึ่งจะสอดคล้องกับการใช้ online platform นอกจากนี้ ยังได้กล่าวแนะนำช่องทางในการเพิ่มโอกาสในการขายว่า ควรมี social media อื่นมาเสริมประกอบ เช่น หากสมาชิกรายใดมีร้านขายสินค้าบน IG อยู่แล้ว อาจเข้ามาฝากร้านที่เพจ WeMahidol Enterprise เพื่อให้ผู้ที่สนใจกดลิงค์เข้าไปในดูภาพสินค้าใน IG ที่มีให้เลือกหลากหลาย ทำให้เกิดความเพลิดเพลินในการติดตาม และเกิดลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นได้ด้วย

ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร

เพื่อความปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรม WeMahidol Enterprise ในการสมัครสมาชิกจะใช้ระบบการกรอกข้อมูลส่วนตัว ที่มีการระบุตัวตน และที่มาของสมาชิกที่สามารถตรวจสอบได้ ผ่าน google form จากนั้นให้ปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาทที่แจ้งไว้ในเพจ โดยจะต้องมีการแนะนำตัวสมาชิก และตัวสินค้า พร้อมลงภาพประกอบด้วย โดยต่อไปมหาวิทยาลัยมหิดลจะเปิดกว้างให้เป็นตลาดแสดงนวัตกรรมจากผลงานวิจัย นอกจากนี้ ในส่วนของคนพิการ ทาง WeMahidol Enterprise จะพยายามพัฒนาระบบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนพิการได้สะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย โดยในเบื้องต้น นักศึกษาพิการสามารถติดต่อ งานบริการสนับสนุนสำหรับนักศึกษาพิการ (DSS – Disability Support Service) กองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอคำแนะนำในเบื้องต้นได้

“เราพยายามปรับตัวจากสถานการณ์ Covid-19 โดยพยายามมองวิกฤตให้เป็นโอกาส และในขณะเดียวกันเราพยายามปลูกฝังให้นักศึกษามี Entrepreneurial Mind เป็นพื้นฐานให้สามารถสร้างธุรกิจด้วยตัวเองได้ต่อไปในอนาคตด้วย เชื่อว่าตลาด WeMahidol Enterprise เมื่อใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ จะสามารถอยู่ได้ระยะยาว และเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโท ทันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต กล่าวทิ้งท้าย