ม.มหิดล ผุด Siree E-Newsletter ให้ความรู้ด้านสมุนไพรสู้ภัย Covid-19

13

ม.มหิดล จัดทำ “Siree E-Newsletter” เป็นจดหมายข่าวออนไลน์ครั้งแรกผ่านช่องทาง Facebook: Sireepark ประเดิมฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงวิกฤต Covid-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน หัวหน้าภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะบรรณาธิการวารสาร Siree E-Newsletter เปิดเผยว่า ตั้งแต่ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ต้องปิดทำการตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ได้มีการบำรุงรักษาภูมิทัศน์ของอุทยานฯ ซ่อมแซมพื้นที่ให้พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว และเพิ่มช่องทางให้ประชาชนได้เข้ามาสัมผัสเยี่ยมชมอุทยานในรูปแบบของจดหมายข่าว โดยจัดทำเป็นฉบับออนไลน์เพื่อลดการใช้กระดาษ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นการประหยัดงบประมาณ โดยเราพยายามนำเสนอจดหมายข่าวที่มีเนื้อหาหลากหลาย เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนทั่วไปที่สนใจพืชสมุนไพร สามารถเข้ามาหาข้อมูลในเชิงวิชาการที่เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร ภานุพงษ์ พงษ์ชีวิน

พืชสมุนไพรเสริมสร้างสุขภาพที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่ามีหลายชนิด เช่น พืชสมุนไพรที่ใช้ในครัวเรือนที่หาได้ง่ายๆ อย่างเครื่องเทศที่ใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องต้มยำ ไม่ว่าจะเป็น ข่า ตะไคร้ หรือ ใบมะกรูด พบว่ามีสารสำคัญที่ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยในการป้องกันโรค และช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีได้ด้วย ที่อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ ยังมีสมุนไพรอีกหลายชนิดที่มีน้ำมันหอมระเหยซึ่งมีกลิ่นหอม อย่างเช่น สะระแหน่ญี่ปุ่น สะระแหน่ญวน หรือต้นว่านหอมแดง ก็สามารถช่วยบรรเทาอาหารหวัด คัดจมูกได้

“วารสาร Siree E-Newsletter มีกำหนดเผยแพร่ทุก 3 เดือน โดยไฮไลท์ในฉบับปฐมฤกษ์เป็นการเปิดตัวด้วยการแนะนำให้รู้จักกับอุทยานฯ ด้วยภาพมุมสวย ๆ นอกจากนี้มีคอลัมน์ต่างๆ อาทิ คอลัมน์เกี่ยวกับเครื่องยาสมุนไพรในตำรับยาห้าราก ซึ่งเป็นยาแก้ไข้ที่มีการใช้มาอย่างยาวนาน การปลูกต้นหญ้าหวาน ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีรสชาติหวานกว่าน้ำตาลทรายประมาณ 100 เท่า และเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องจำกัดการบริโภคน้ำตาล เพื่อประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจปลูกต้นหญ้าหวานไว้ใช้ประโยชน์และต่อยอดในเชิงธุรกิจ และการเตรียมเครื่องดื่มสมุนไพรรับหน้าร้อนสำหรับประชาชนในช่วงที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน เป็นต้น โดยในฉบับถัดไป เรามีแผนจะทำให้มีเนื้อหาที่หลากหลาย โดยจะมีการเปิดคอลัมน์เกี่ยวข้องกับงานศิลปะที่มุ่งเน้นให้เด็กสามารถเข้ามาเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนคอลัมน์ที่เกี่ยวกับการดูนกด้วย”

“มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ เกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง และสร้างชื่อเสียงจนเป็นที่ยอมรับของประชาชน ก้าวต่อไป คือ เราต้องพยายามพัฒนาอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติขึ้นมาให้มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติให้ได้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ประชาชนที่ติดตามวารสาร Siree E-Newsletter สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้กับชีวิตประจำวัน เพื่อการดูแลสุขภาพของตนเองได้ต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่จะต้องรับมือกับสถานการณ์ Covid-19” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกร ภานุพงษ์  กล่าว

ติดตามอ่านได้ 2 ช่องทางดังนี้
Website: https://sireepark.mahidol.ac.th/
Facebook : https://www.facebook.com/sireepark