สสส.หนุนปลูกจิตสำนึกดีให้เด็ก ผ่านฝึกปฏิบัติจริง ฝึกเผชิญภาวะเสี่ยง ตัดสินใจแก้ปัญหา เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องอุบัติเหตุและการพนัน
ดร. อัญญมณี บุญซื่อ หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า เฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีละ 22,281 ราย บาดเจ็บสาหัส 107,542 คน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 545,435 ล้านบาทจากอุบัติเหตุทางถนน และจากการสำรวจสถานการณ์การพนันในสังคมไทยพบเด็กเริ่มเล่นการพนันครั้งแรกอายุต่ำสุด 7 ขวบ คือข้อมูลสถิติที่น่ากังวลจากปัจจัยเสี่ยงทางสังคมทั้งสองประเด็นดังกล่าว ทั้งยังมีปัญหาและผลกระทบอีกมากมายหลายด้านที่ตามมา ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนได้ร่วมกันดำเนินงานเพื่อสร้างความตระหนักและรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการและกิจกรรมมากมายที่จัดขึ้นสำหรับทุกกลุ่มและทุกช่วงวัย ในกลุ่มเด็กเล็กจะมุ่งเน้นด้านการปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากปัจจัยเสี่ยง
โครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม (อุบัติเหตุทางถนน-การพนัน) เป็นโครงการที่วางรากฐานให้เด็กเล็กระดับอนุบาลและประถมศึกษาตอนต้นสามารถรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยการสร้างจิตสำนึกต่อภัยจากการใช้ถนนและการพนัน ทั้งในด้านทัศนคติ การคิด และทักษะ โดยออกแบบและพัฒนาชุดสื่อกิจกรรมอย่างเป็นระบบ และประยุกต์ใช้หลักสูตร School Safety ของประเทศญี่ปุ่น จากประสานงานกับกลุ่มบริษัท EXEDY AISIN GROUP พร้อมทั้งลงพื้นที่จัดกิจกรรม 23 โรงเรียนในทุกสังกัด คือ กรุงเทพมหานคร กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน) ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ครอบคลุมบริบทเมือง ชนบท และพื้นที่ทุรกันดาร ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
องค์ประกอบของการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากอุบัติเหตุทางถนน ใช้ถนน ตาไว ไกลอุบัติเหตุ ที่ใช้เป็นหลักในการออกแบบสื่อและสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ในโครงการ ได้แก่ ทัศนคติ “ไม่ประมาท” และการพึ่งตนเอง “ตรวจสอบความเสี่ยงเสมอ” เน้นให้มีการคิดอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง คิดวิเคราะห์สถานการณ์ได้ และฝึกทักษะด้านการสังเกตผ่านการใช้ประสาทสัมผัสด้วยความตั้งใจ ทั้งตาดู-หูฟัง และปฏิบัติตามกฎกติกาของสังคม ส่วนการสร้างภูมิคุ้มกันด้านการพนัน เล่น ละ โลภ ได้แก่ ทัศนคติที่ถูกต้องในการ “พึ่งตนเองโดยไม่พึ่งโชคชะตา” และ “รู้จักพอ” เน้นให้คิดบวกเมื่อเผชิญกับปัญหา ใช้เหตุและผล วิเคราะห์-ตีความได้ ค่อยๆ คิดเพื่อตัดสินใจอย่างถูกต้องเหมาะสม และฝึกทักษะการวางแผนในการกำกับตนเอง สามารถประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้ รู้วิธีพูดเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ เป็นต้น โดยใช้สื่อและกิจกรรมการหลากหลายรูปแบบที่จัดให้ครู พี่เลี้ยง และผู้ปกครอง รวมถึงสมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมเรียนรู้ผ่านการเล่นกับเด็กๆ อย่างสนุกสนานด้วย
การเลี้ยงดูและให้การศึกษากับเด็กอนุบาลหรือประถมศึกษาตอนต้น ไม่ใช่เพียงหาวิธีการสร้างเสริมพัฒนาการและการดูแลเด็กเท่านั้น แต่ควรรวมไปถึงการเสริมสร้างทักษะชีวิตให้เด็กรู้วิธีการปกป้องและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองจากภาวะเสี่ยงที่มีมากขึ้นทุกวันจากปัญหาของสังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งเด็กในยุคปัจจุบันพบปัญหานี้มากกว่าเด็กในอดีตอย่างมาก เช่น ภัยจากการอยู่ในสิ่งแวดล้อมส่งเสริมการพนัน ซึ่งอาจมีผลต่อการมีทัศนคติว่าการพนันไม่ใช่สิ่งที่ผิด ทำให้เด็กเกิดค่านิยมที่จะพยายามสร้างตัวจากความเชื่อในโชค มากกว่าการพยายามสร้างตัวจากความสามารถของตนเอง จนนำไปสู่การเดินไปในเส้นทางชีวิตที่ผิดในอนาคต
หรือภัยจากการใช้ถนนอย่างประมาท เด็กควรฝึกการคิดตัดสินใจจากการสังเกต แยกแยะ คาดคะเนความเป็นไปได้จากสิ่งรอบตัว แต่ผู้ใหญ่มักจะทำสิ่งต่างๆ ให้เองโดยไม่ให้เด็กเรียนรู้หรือเผชิญกับความเสี่ยงในสังคมหรือสิ่งแวดล้อมทางลบ แทนที่จะฝึกให้เด็กให้กล้าเผชิญและมีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจ หรือปกป้องตนเองจากสถานการณ์เสี่ยงตามธรรมชาติและสัญชาตญาณความไวต่อการอยู่รอดของเด็ก ซึ่งการศึกษาวิจัยในหลายประเทศพบว่าการปกป้องจากผู้ใหญ่ดังกล่าว กลับเป็นการสร้างความอ่อนแอให้กับเด็กและมีผลให้เด็กเกิดภาวะตกใจลังเล ไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วยตนเองเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์จริงในวิถีชีวิต
การฝึกให้เด็กสามารถเผชิญและผ่านปัญหาได้ด้วยตนเองจากปัจจัยเสี่ยงในสังคมผ่านการใช้ทัศนคติ การคิดและความสามารถที่จะตัดสินใจในทางที่ถูกกับเหตุการณ์ที่มีทางเลือกได้อย่างทันท่วงที หรืออย่างรู้เท่าทันตนเองและผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้และควรทำตั้งแต่ในวัยอนุบาล โดยโครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม มีทั้งกระบวนการให้ความรู้ สร้างประสบการณ์ ฝึกทักษะจากการปฏิบัติจริง พัฒนาการฝึกสติ หล่อหลอมความเชื่อที่เหมาะสมให้เด็กมีทัศนคติต่อตนเองและต่อสิ่งรอบตัวในการตัดสินใจในทางที่ถูกกับเหตุการณ์ที่มีทางเลือก ผ่านชุดสื่อและกิจกรรมที่เหมาะกับพัฒนาการตามวัย ด้วยระบบการพัฒนาจิตสำนึกใน 4 ด้าน
คือการรับรู้ความสามารถและการกำกับตนเอง (Sensory Sensing) การรับรู้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Bonding Sensing) การรับรู้โดยใช้หลักเหตุและผล (Rational Sensing) และการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์-วัฒนธรรมของชุมชน (Community Sensing) โดยผสมผสานกระบวนการฝึกทักษะสมองแบบ EF (Executive Function) และการคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) ผ่านชุดสื่อและกิจกรรมที่เหมาะกับพัฒนาการตามวัย
“ให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น เช่น ละครเพลง หุ่นมือ การแสดงบทบาทสมมุติ การฝึกคิดและวิเคราะห์จุดเสี่ยงจากบัตรภาพและจากสถานที่จริงในโรงเรียน ฝึกทักษะการข้ามถนนด้วยประบวนการ “หยุด ยก ดู ฟัง คิด” การแก้ปัญหาจากสถานการณ์จำลองในบทบาทสมมุติต่างๆ ทั้งคนเดินถนน ผู้ขับขี่ ตำรวจ หน่วยกู้ภัย กิจกรรมและเกมการต้านทานปิศาจพนันที่ฝึกการควบคุมตนเอง-ไม่ตามใจตนเองเพื่อไม่ให้เสียใจภายหลัง ” ดร. อัญญมณี กล่าว
ด้าน นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า โครงการพัฒนาจิตสำนึกเพื่อรู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยงทางสังคม เป็นประโยชน์ต่อเด็กและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยทำให้เกิดกระแสใหม่ของการสร้างเด็กที่มีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันภัยจากการพนันและอุบัติเหตุทางถนน เกิดเด็กรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อความเข้าใจเรื่องการพนันและมีภูมิคุ้มกันในการจัดการตนเองให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนน สำหรับโรงเรียนก็จะเกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ในการพัฒนาชุดสื่อกิจกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาเด็กที่เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมในการทดลองฝึกปฏิบัติจริงและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในส่วนของผู้ปกครองจะเกิดกระแสให้ลูกช่วยกระตุ้นเตือนพ่อแม่ในการดูแลตนเอง และตระหนักถึงภัยจากการพนันและอุบัติเหตุทางถนน ส่งผลให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ปลอดภัยทั้งทางกายภาพและวิถีชีวิต
“ผลสำเร็จของโครงการนี้คือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ การคิด และพฤติกรรมของเด็กเล็ก ตลอดจนเกิดความร่วมมือระหว่างครู ผู้ปกครอง และคนในชุมชน ในการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดภัย วิถีชีวิตที่หลีกห่างจากอุบัติเหตุทางถนนและการพนัน” นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ กล่าว