ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำ COVID-19 ไม่ติดต่อปศุสัตว์หลัก

6
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ

ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ยืนยันเนื้อสัตว์ หมู ไก่ เป็ด รับประทานได้ไร้เชื้อโควิด19 ย้ำอาหารต้องเน้นความสะอาดและปรุงสุกให้ความร้อนฆ่าเชื้อโรค เพื่อสุขภาพที่ดีของผู้บริโภค

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวย้ำว่า ปกติเชื้อโคโรน่าไวรัสสามารถพบได้ในสัตว์ทุกชนิด ส่วนเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ที่เกิดโรคในคน หรือ โควิด 19 นั้น จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในจีน พบว่าเชื้อนี้ติดต่อได้ในสัตว์ตระกูล Feline เช่น แมวและเสือ เป็นต้น สำหรับสัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู ไก่และเป็ด งานวิจัยพบว่าจะไม่สามารถติดโรคโควิด 19 ได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้โรคโควิด 19 ที่แพร่จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงยังไม่พบหลักฐานว่าเชื้อโรคชนิดนี้แพร่กลับมาสู่คนได้

“งานวิจัยชี้ชัดว่าไวรัสตัวนี้ไม่ติดใน หมู ไก่ เป็ด หรือปศุสัตว์อื่นๆ ประชาชนจึงสบายใจได้ในการบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้ แต่อยากเน้นต้องปรุงอาหารให้สุก สะอาด และไม่แนะนำให้ทานอาหารดิบๆ สุกๆ เด็ดขาดในช่วงนี้ การทานอาหารที่สุกความร้อนสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ทุกชนิดรวมทั้งโควิด19 ” ศ.นพ.ยง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหาร ควรมีมาตรการป้องกันโรคที่เข้มงวดและแนวทางปฏิบัติด้านสุขอนามัยส่วนบุคคลที่เคร่งครัดโดยเฉพาะมาตรการดูแลตัวเองและการควบคุมอนามัยส่วนบุคคล ความสะอาด การล้างมือ การใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันฝอยละอองที่เกิดจาการไอหรือจามปนเปื้อนไปกับอาหาร และหากผู้ปฏิบัติงานมีอาการป่วยและมีไข้ ควรหยุดการปฏิบัติงานในทันที

ศ.นพ.ยง ย้ำว่า ในโรงงานชำแหละและแปรรูปสัตว์ กรณีพบผู้ป่วยติดเชื้อในไลน์การผลิต ต้องหาผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อกักตัวและะเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 14 วัน และให้หยุดสายการผลิตบริเวณที่ผู้ป่วยติดเชื้อปฏิบัติงานเป็นเวลา 1 วัน เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ โดยไม่จำเป็นต้องปิดสายการผลิตทั้งโรงงาน และการฆ่าเชื้อจะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่มีสารประกอบคลอรีนหรือแอลกอฮอลล์ ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การฆ่าเชื้อจะช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโรคนี้แพร่กระจายไปสู่เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ

“สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือการระบาดของโรคโควิด 19 ในโรงงานเพราะเป็นสถานที่รวมของคนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนเตรียมการที่ดี เน้นการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) หรือ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล (Physical Distancing) การเข้ากะ-ออกกะ ต้องพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสและการรวมพลของคนหมู่มาก เพราะถ้าเกิดโรคกับคนใดคนหนึ่ง คนที่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อทุกคนจะต้องถูกกักตัวเป็นกลุ่มใหญ่จนไม่เหลือคนทำงาน” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง แนะนำว่า ในสายการผลิตควรเตรียมแผนปฏิบัติการไว้ล่วงหน้ากรณีเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 ผู้ปฏิบัติงานในแต่ละกะการทำงาน ควรแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน เพราะหลังปิดไลน์การผลิตทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแล้วต้องมีทีมงานกลุ่มใหม่เข้าไปทำงานแทนทันทีเพราะไม่สามารถปิดโรงงานได้ 14 วัน การเตรียมการต่างๆ ถือว่ามีความจำเป็นมาก ต้องมีการวางแผนและซ้อมแผนเป็นอย่างดี หากไม่วางแผนทีดีเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะเป็นอุปสรรคอย่างมากหากไม่สามารถดำเนินการผลิตต่อไปได้

จากการทำวิจัยมากว่า 10 ปีในไทย พบว่าโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไปมักจะระบาดได้ง่ายช่วงฤดูฝนมากกว่าฤดูร้อน ดังนั้นในฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ประเทศไทยต้องเตรียมตั้งรับแบบเข้มแข็งกว่าปกติ เพราะหากพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ การวินิจฉัยโรคจะค่อนข้างยุ่งยากกว่าปกติ จำเป็นต้องตรวจโรคมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 หรือติดเชื้อไข้หวัดธรรมดา ดังนั้นปีนี้ไทยจำเป็นต้องระวังมากกว่าทุกปี ศ.นพ.ยง กล่าว

“อยากฝากคนไทยเรื่องระเบียบวินัยและคำแนะนำต่างๆ ผมเชื่อมั่นว่าคนไทยทำตามคำแนะนำได้ดี เรื่องการดูแลสุขอนามัย ทานอาหารปรุงสุก การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือและอื่นๆ ตลอดจนการเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing) และการเว้นระยะระหว่างบุคคล (physical distancing ) ถ้าคนไทยทำได้มากกว่า 90% คงความมีวินัยเคร่งครัดและเชื่อคำแนะนำของทางราชการ เชื่อว่าโรคโควิด 19 จะมีอุบัติการ การสูญเสียทางสุขภาพร่างกายและเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศทางตะวันตกแน่นอน” ศ.นพ.ยง กล่าวย้ำ