เงินเก็บยามเกษียณกับการลงทุนในช่วงนี้

19
สาริกา อภิวรรธกกุล

ในช่วงนี้ที่มีผลิตภัณฑ์การลงทุนออกมาให้เลือกหลายรูปแบบ ซึ่งหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เกษียณอายุ การทำงานที่มีเงินเก็บหลังเกษียณอาจมอง ๆ อยู่อย่างสนใจ วันนี้จึงขอชวนคุยเกี่ยวกับการลงทุนสำหรับเงินเก็บยามเกษียณที่หวังไว้ว่าจะเอาไว้ใช้ในยามที่ไม่มีรายได้ประจำหรือทำให้ออกดอกออกผลมาใช้ได้บ้าง

เริ่มกันที่พันธบัตรรัฐบาล ที่ในระยะนี้มีการเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” โดยในช่วงวันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2563 เสนอขายให้เฉพาะผู้ลงทุนที่อายุ 60 ขึ้นไปก่อนที่จะเริ่มขายให้ประชาชนทั่วไป ช่วงวันที่ 21 – 27 พฤษภาคม และผู้ซื้อทุกกลุ่มในช่วงวันที่ 28 พฤษภาคม ถึง 10 มิถุนายน 2563 แล้วพันธบัตรรัฐบาลที่ว่านี้คืออะไร เหมาะสมที่จะลงทุนไหมสำหรับเงินเก็บยามเกษียณ

มาสำรวจความพร้อมด้วยหลัก “รู้เขา รู้เรา” โดยขอเริ่มจาก “รู้เรา” ก่อน
“รู้เรา” ก่อนการลงทุนควรสำรวจการเงินของตัวเอง 3 ข้อ (1) รายได้หลังเกษียณ เช่น เงินบำนาญ เงินประกันสังคม เงินปันผล เพียงพอต่อการยังชีพหรือไม่ (2) รายจ่ายประจำ เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่ารักษาพยาบาล ภาระหนี้สิน และเลี้ยงลูกเลี้ยงหลาน เป็นต้น (3) เงินออม มีอยู่เพียงพอจะใช้ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือพอจะนำไปลงทุนให้งอกเงยได้แค่ไหน อยู่ได้สบายจนถึงบั้นปลายชีวิตหรือไม่ เมื่อสำรวจเงินเข้า เงินออกและเงินที่มีอยู่ของตัวเองแล้ว มาพิจารณาปัจจัยอื่นต่อ ที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ
1. ความเสี่ยง – ความสามารถในการรับความเสี่ยง เนื่องจากเป็นเงินก้อนสุดท้ายจึงรับความเสี่ยงสูงมากไม่ได้เหมือนเคย และบางท่านอาจเกิดความเครียดและวิตกกังวลอย่างมากหากลงทุนแล้วขาดทุน
2. สภาพคล่อง – การลงทุนในสินทรัพย์บางประเภทต้องทิ้งเงินไว้นาน ถอนออกไม่ได้ หรือถอนได้แต่ต้องยอมขาดทุน ดังนั้นจึงต้องไม่ลืมที่จะนึกถึงความจำเป็นในการใช้เงินให้ครบถ้วน
3. แบ่งเงินให้เหมาะสม – ควรกันเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าใช้จ่ายฉุกเฉินไว้ก่อนแล้วจึงค่อยลงทุน และควรกระจายลงทุนในผลิตภัณฑ์หลายประเภทและหลายที่เพื่อกระจายความเสี่ยง
4. ลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต ต้องตรวจสอบจากทางการหรือสถาบันการเงิน ที่ให้บริการก่อนตัดสินใจลงทุน หรือตรวจสอบได้ที่แอปพลิเคชัน SEC Check First ของ ก.ล.ต. เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมาหลอกลวงให้ลงทุน

โดยหลักการลงทุนมักแนะนำให้ผู้ลงทุนวัยเกษียณระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูง เช่น หุ้น หุ้นกู้ที่เสี่ยงสูง (ให้ผลตอบแทนสูง) เช่น ลงทุนได้บ้าง 5-10% ของเงินลงทุนทั้งหมด ส่วนที่เหลือควรลงทุนความเสี่ยงปานกลางถึงต่ำ ได้แก่ เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ เป็นต้น

“รู้เขา” ต้องรู้จักผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะลงทุน ซึ่งสำหรับพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษนี้เป็น ตราสารหนี้ที่ออกโดยกระทรวงการคลัง มีความเสี่ยงต่ำ อัตราดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป และได้รับดอกเบี้ยสม่ำเสมอปีละ 2 ครั้ง ตลอดการถือครอง เหรียญมีสองด้านฉันใด การลงทุนก็มีสองด้านที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจฉันนั้น

สิ่งที่ต้องรู้ก่อนซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ
1. สภาพคล่อง พันธบัตรมีระยะเวลาถือครองยาว (5 ปี หรือ 10 ปี) ถ้าจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนนี้ก่อนพันธบัตรจะครบอายุ อาจขายได้ราคาที่สูงหรือต่ำกว่าที่ลงทุนไปก็ได้ ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ย ในตลาดขณะนั้น ทั้งนี้ การโอนกรรมสิทธิ์หรือเปลี่ยนมือต้องทำตามเงื่อนไขและขั้นตอนที่กำหนดไว้ด้วย
2. ดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยเสนอให้ดอกเบี้ยสูงในปีท้าย ๆ เพื่อจูงใจให้ถือจนครบกำหนด การตัดสินใจจึงต้องดูที่ดอกเบี้ยเฉลี่ย
3. ค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยที่ได้รับจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของรายได้ดอกเบี้ย
4. ความเสี่ยงจากดอกเบี้ยคงที่ หากในอนาคตอัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร ผู้ถือพันธบัตรจะไม่ได้ประโยชน์เพิ่มเติม
ทำความรู้จักพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ https://www.pdmo.go.th/th/bond-channels หรือธนาคารตัวแทนจำหน่าย
เมื่อสำรวจตัวเองและเข้าใจในสิ่งที่จะลงทุน “รู้เขา รู้เรา” แล้ว ก็ย่อมตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม และท้ายนี้ขอฝากเตือนทุกท่านให้ระวังการถูกหลอกลวงให้ลงทุนโดยการชักชวนด้วยผลตอบแทน ที่สูง หากไม่แน่ใจสามารถติดต่อมาได้ที่ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. สายด่วน 1207

หมายเหตุ:
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความรู้ตลาดทุนและศูนย์ประสานงานต่างจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์