วิศวะฯ “ศรีปทุม” โชว์นวัตกรรม ตู้ความดันบวก ตัวช่วยสำหรับคุณหมอ

28

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม โชว์นวัตกรรม ตู้ความดันบวก (Positive Pressure)  ส่งมอบให้กับคุณหมอตามโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัยและศูนย์ตรวจคัดกรองเชื้อในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดที่ขาดแคลนเครื่องมือ ได้ใช้เป็นอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นตัวช่วยของคุณหมอสำหรับป้องกัน ขณะปฏิบัติหน้าที่ให้บริการในการตรวจคัดกรองแก่ประชาชน

ผศ.ดร.ชลธิศ เอี่ยมวรวุฒิกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการคิดในการจัดทำตู้ความดันบวก(Positive Pressure)ขึ้นมานั้น สืบเนื่องจากการที่ได้มีโอกาสเป็นผู้แทนสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าร่วมการประชุมร่วมกับคณะทำงานของภาครัฐ และการติดตามข่าวสารในการให้การสนับสนุนช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงการระบาดของCOVID-19

โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจคัดกรองที่ต้องมีการดำเนินการเป็นจำนวนมาก ซึ่งพบว่ายังเข้าได้ไม่ทั่วถึงสำหรับโรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย หรือด่านคัดกรองตามชายแดนในพื้นที่ต่างจังหวัดจึงได้ติดต่อสอบถามกับน้องสาวที่เป็นคุณหมอ ประจำอยู่ที่โรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ถึงการทำงานของคุณหมอในพื้นที่ ซึ่งได้อธิบายว่ายังมีความต้องการ การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันในการตรวจคัดกรองประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก และปัจจุบันการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้ดำเนินการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันด้วยตัวเองเท่าที่พอจะทำได้ อีกทั้งชุดป้องกันส่วนบุคคลสำหรับคุณหมอ (PPE) ยังมีจำนวนจำกัด ทำให้ไม่สามารถดำเนินการตรวจคัดกรองได้รวดเร็ว ดังนั้นหากสามารถมีอุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อน จัดสร้างและบำรุงรักษาได้ง่าย ช่วยเหลือให้คุณหมอในพื้นที่สามารถดำเนินงานได้อย่างปลอดภัย และสามารถโยกย้ายนำไปใช้ตามจุดต่างๆของจังหวัดได้ เช่น โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย หรือด่านชายแดน ก็จะเป็นประโยชน์มากๆกับในสถานการณ์อย่างนี้

ผศ.ดร.ชลธิศ กล่าวต่อว่า สำหรับการคิดและพัฒนาต้นแบบตู้ความดันบวกนี้ ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งด้านข้อมูลการใช้งานจากคุณหมอ พญ.วรรณพร เอี่ยมวรวุฒิกุล ประจำโรงพยาบาล เจ้าพระยาอภัยภูเบศร วัสดุอุปกรณ์งานระบบจาก คุณกลชาญ ฉายากุล บริษัท ไตรเอ็น โทเอเน็ค จำกัด และคณาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

และจากโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีแนวคิดที่จะทำตู้ สำหรับตรวจคัดกรอง (Swab Test) เพื่อให้คุณหมอ หรือบุคลากรทางการแพทย์สามารถอยู่ภายในตู้ ระหว่างการตรวจคัดกรองเชื้อจากประชาชนหรือคนไข้ที่อยู่ภายนอก  โดยภายในตู้จะมีการสร้างแรงดันอากาศภายในให้สูงกว่าภายนอกเล็กน้อยอย่างน้อย 2.5 Pa ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่อาจล่องลอยอยู่ในอากาศภายนอกไม่ให้ไหลเข้าสู่ภายในตู้ได้

การที่เราเลือกทำตู้ความดันบวก (Positive Pressure) แทนที่จะเป็นตู้ความดันลบ (Negative Pressure) ดังที่มีการพูดกันมากในสถานะการณ์ โควิด-19 เพราะระบบความดันบวกจะมีความเหมาะสมสำหรับงานการตรวจคัดกรอง หรือ Swab Test มากกว่า (ระบบความดันลบ จะเหมาะสำหรับการคัดแยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อแล้วไม่ให้ฟุ้งกระจายสู่ภายนอก) นอกจากนั้น ระบบความดันบวกจะมีความซับซ้อนของอุปกรณ์ที่น้อยกว่าระบบความดันลบเป็นอย่างมาก ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานภาคสนาม ที่ช่างหรือบุคลกรในพื้นที่สามารถซ่อมบำรุงรักษา หรือจัดสร้างขึ้นมาเองได้ง่าย

และสำหรับระบบตู้ความดันบวกของเรา ตั้งใจออกแบบตามแนวคิด “Simply Significant” มุ่งเน้นความเรียบง่าย ใช้งานได้จริง โดยมีผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง มีการระบายอากาศที่พอเพียงโดยไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ ให้สามารถจัดสร้างหรือซ่อมบำรุงได้ง่ายโดยช่างท้องถิ่น รวมถึงสามารถจัดหาวัสดุอุปกรณ์ในพื้นที่ได้สะดวก ซึ่งการจัดสร้างประกอบจากโครงสร้างอลูมิเนียมและอะคริลิค จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน รวมถึงการติดตั้งงานไฟฟ้า และพัดลมสร้างแรงดันในการจ่ายอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในตู้ และความยากจะอยู่ที่การออกแบบให้คุณหมอสามารถใช้งานและทำงานได้อย่างสะดวกรู้สึกสบายโดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ โดยการกำหนดอัตราการจ่ายปริมาณลมที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศภายใน (Air Change per Hour) ให้สูงเพียงพอต่อความรู้สึกสบายของคุณหมอ ซึ่งจะสูงกว่าเพียงการสร้างแรงดันสำหรับการป้องกันเชื้อ โดยการการพัฒนาต้นแบบ ได้มีการประสานงานข้อมูลจากคุณหมอฟองน้ำ (พญ.วรรณพร เอี่ยมวรวุฒิกุล) ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเชิญคุณหมอที่มีหน้าที่ในการตรวจคัดกรองมาทดสอบและให้ข้อคิดเห็นสำหรับการพัฒนาปรับปรุง เพื่อให้คุณหมอสามารถใช้งานได้จริงและสะดวกสบายที่สุด

สำหรับเป้าหมายในการผลิตตู้ความดันบวก ในขณะนี้มีออเดอร์จากการดำริของ ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม ให้ดำเนินการผลิตจำนวน 11 ตู้ เพื่อเร่งนำไปบริจาคให้แก่โรงพยาบาลต่างๆและศูนย์คัดกรองชายแดนในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยต่อไปอาจจะได้มีการรับบริจาคทุนทรัพย์สำหรับทำการผลิตตู้ความดันบวก หรือเผยแพร่แบบสู่สาธารณะ เพื่อให้หน่วยงานทางสาธารณะสุข ในพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถนำไปใช้ในการผลิตได้เองต่อไป

ผศ.ดร.ชลธิศ กล่าวปิดท้ายว่า ในอนาคตทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม คงจะมีผลงานนวัตกรรมดีๆ ออกมารับใช้สู่สังคมแน่นอน เพราะด้วยวิชาชีพวิศวกรรม เป็นวิชาชีพที่มีผลกระทบต่อสังคม ชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นการประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางวิศวกรรมเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมจึงเป็นหน้าที่หลักที่สำคัญอย่างหนึ่งของคณะวิศวกรรมศาสตร์อยู่แล้ว

และจากสถานะการณ์ระบาดของโควิด -19 ทำให้เราได้เห็นพลังน้ำใจของคนไทยที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยถือคุณลักษณะที่โดดเด่นและได้รับการชื่นชมจากต่างประเทศ และที่สำคัญทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างมีความสุขสำหรับตัวเราและคนที่เรารัก และในฐานะที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ SPU เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราจึงสัญญาว่าจะทำหน้าที่ในการ คิดค้น พัฒนา ต่อยอดองค์ความรู้ และผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถ ออกไปปฎิบัติหน้าที่รับใช้สังคมและทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมอย่างดีที่สุด