9 โรค 4 ภัย ป้องกันได้ในฤดูฝน  

39

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคและภัยสุขภาพ 5 กลุ่ม ประกอบด้วย 9 โรค และ 4 ภัยสุขภาพที่ควรระมัดระวังการเจ็บป่วยในช่วงฤดูฝน เพื่อให้ประชาชนดูแลสุขภาพอนามัยอย่างถูกต้อง รวมทั้งการร่วมมือของชุมชน และท้องถิ่นเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ห่างไกลจากโรคต่างๆ และมีสุขภาพดีในช่วงหน้าฝนนี้

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว หากประชาชนดูแลรักษาสุขภาพไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้ นั้น กรมควบคุมโรค จึงได้ออกประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคและภัยสุขภาพที่เกิดในช่วงฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ.2563 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุดูแลสุขภาพอนามัยของตนเองได้อย่างถูกต้อง โดยโรคและภัยสุขภาพที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในฤดูฝน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้ 1.โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ (ไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบ) 2.โรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ (อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ และอหิวาตกโรค) 3.โรคติดต่อนำโดยยุงลาย (ไข้เลือดออก และไข้ปวดข้อยุงลายหรือชิคุนกุนยา) 4.โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆในช่วงฤดูฝน (เลปโตสไปโรซิสหรือฉี่หนู และมือ เท้า ปาก) และ 5.ภัยสุขภาพ (การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า อันตรายจากการถูกสัตว์มีพิษกัด และอันตรายจากการกินเห็ดพิษ)

กลุ่มที่ 1 โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ 1) โรคไข้หวัดใหญ่ พบได้ทุกกลุ่มอายุ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว 2) โรคปอดอักเสบ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบผู้ป่วยได้ทุกกลุ่มอายุ ติดต่อทางการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายหรือไอจามรดกัน ซึ่งทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการรักษาสุขภาพ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำร่างกายให้อบอุ่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องคลุกคลีกับผู้อื่น

กลุ่มที่ 2 เป็นโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ 1) โรคอุจจาระร่วง เกิดจากการรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำ 3 ครั้งขึ้นไปต่อวัน 2) โรคอาหารเป็นพิษ มักพบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อน โดยทั่วไปมีอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง มักจะหายได้เองภายใน 24-48 ชั่วโมง 3) โรคอหิวาตกโรค ติดต่อโดยการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน บางรายมีภาวะขาดน้ำรุนแรง และอาจเสียชีวิตได้  สำหรับการป้องกันกลุ่มโรคทางเดินอาหารและน้ำ คือ ล้างมือ ให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการประกอบอาหาร รับประทานอาหาร หรือหลังจากการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ดื่มน้ำสะอาด น้ำต้มสุกหรือน้ำบรรจุขวดที่มีฝาปิดสนิท รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ หากต้องการรับประทานอาหารค้างมื้อ ควรอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และไม่ควรรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม

กลุ่มที่ 3 โรคติดต่อนำโดยยุงลาย ได้แก่ 1) โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก มีจุดแดงที่ผิวหนัง หากอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกได้ 2) โรคไข้ปวดข้อยุงลายหรือโรคชิคุนกุนยา เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา มียุงลายสวน และยุงลายบ้านเป็นพาหะนำโรค พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการจะคล้ายกับโรคไข้เลือดออก แต่ต่างกันที่ไม่มีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจนถึงมีอาการช็อก      ทั้งสองโรคสามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ให้ถูกยุงกัด และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง

กลุ่มที่ 4 โรคติดต่อที่สำคัญอื่นๆ ในช่วงฤดูฝน ได้แก่ 1) โรคเลปโตสไปโรซิสหรือโรคฉี่หนู เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน พบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบบ่อยในผู้มีอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องสัมผัสกับดินหรือน้ำอยู่เป็นประจำ อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ตาแดง และปวดกล้ามเนื้อน่องอย่างรุนแรง การป้องกันคือ หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องลุยน้ำย่ำโคลนเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสมทุกครั้ง เช่น สวมรองเท้าบูทยาว ถุงมือยาว 2) โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก จากการสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลาย ผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วย อาการผู้ป่วยคือ จะมีแผลหรือตุ่มในช่องปาก กระพุ้งแก้ม มีผื่นแดงหรือตุ่มบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่แขน ขา หรือก้น ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และหายเองได้ สำหรับการป้องกัน ผู้ปกครองและครูควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของบุตรหลาน และคุณครูผู้ดูแลเด็กควรตรวจคัดกรองโรคในเด็กทุกคน หากพบว่ามีอาการสงสัยป่วย ให้แยกเด็กป่วยออกจากเด็กปกติทันที รีบพาไปพบแพทย์ และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหายดี

กลุ่มที่ 5 ภัยสุขภาพ ได้แก่ 1) การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ ผู้ปกครองควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ให้ตระหนักถึงอันตรายจากการจมน้ำ ให้ความรู้แก่เด็กในการเอาตัวรอด และวิธีการช่วยเหลือคนจมน้ำอย่างถูกวิธี ชุมชนควรมีป้ายเตือน ทำเครื่องป้องกัน ทำรั้วล้อมรอบแหล่งน้ำ 2) การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการถูกฟ้าผ่า เมื่อมีฝนตกฟ้าคะนอง ให้หลบในที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้งในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เนื่องจากจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในโทรศัพท์มือถือได้ 3) อันตรายจากการถูกสัตว์มีพิษกัด ควรจัดบ้านให้สะอาด ไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนของสัตว์มีพิษ ระวังเมื่อต้องเข้าไปในที่รก กอหญ้า หรือกองไม้ หากถูกงูพิษกัด ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที และจำลักษณะชนิดของงูที่กัด เพื่อการให้เซรุ่มพิษงูได้ถูกต้องและรวดเร็ว และ 4) อันตรายจากการกินเห็ดพิษ หากไม่มั่นใจว่าเป็นเห็ดพิษหรือเห็ดที่รับประทานได้ ไม่ควรนำมารับประทาน หรืออาจเลือกรับประทานเห็ดที่มาจากการเพาะขยายพันธุ์ เช่น เห็ดนางฟ้า เห็ดฟาง เป็นต้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ได้จัดทำประกาศแจ้งเตือนให้ระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง พร้อมสั่งการหน่วยงานในสังกัด  เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพื่อควบคุม ป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคติดต่อ รวมถึงสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนให้ได้มากที่สุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422