ม.มหิดล เปิดเส้นทางสู่การผลิตแพทย์ ต่อยอดหลักสูตรชีววิทยานานาชาติ

15

บัณฑิตที่เป็นที่ต้องการในโลกยุคดิสรัปชั่น จะต้องมีทักษะสำหรับโลกในศตวรรษ 21 ที่รู้ทั้งกว้างและลึกในวิชาชีพที่ตัวเองถนัด สู่การเป็นมืออาชีพระดับโลก (Global Professional)

ในการเป็นมืออาชีพระดับโลก จำเป็นต้องอาศัยความรู้ที่หลากหลายและครอบคลุม Liberal Arts Education หรือ ศิลปวิทยาศึกษา เป็นแบบอย่างของปรัชญาการจัดการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นให้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่ครอบคลุม และผสมผสานแขนงวิชาที่สำคัญสำหรับการใช้ชีวิตที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น

ในขณะเดียวกัน ความเป็นผู้รู้กว้างและลึกนี้เอง จะทำให้มีความเท่าทันจนสามารถเติบโต และพัฒนาไปกับโลกที่ผันผวน ด้วยความตระหนักในตัวเอง พร้อมกับเข้าใจในผู้อื่น และสรรพสิ่งที่เป็นองค์ประกอบของสังคม ทำคนให้เป็น “มนุษย์” ที่สมบูรณ์

เนื่องจาก Liberal Arts Education เป็นการเรียนการสอนแบบบูรณาการที่จัดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเข้าถึงวิชาที่เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ จึงพบว่าในหลายประเทศที่เป็นผู้นำทางการศึกษา บัณฑิตที่เรียนจบ Liberal Arts สามารถศึกษาต่อยอด และแตกแขนงได้อีกหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และวิทยาศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ประยุกต์อื่นๆ

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง จุฬธิดา โฉมฉาย คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์” มีไว้เพื่อให้มนุษย์เข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ตลอดจนปรากฏการณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ในขณะที่ “ศิลปะ” มีไว้เพื่อให้มนุษย์เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังนั้น เพื่อการผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิสรัปชั่น MUIC จึงได้จัดการเรียนสอนแบบ Liberal Arts ที่เป็น “ศิลปวิทยาศาสตร์” จากการผสมผสานวิทยาศาสตร์กับศิลปะ เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีความตระหนักในตัวเอง สามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนารูปแบบของตนได้เต็มตามศักยภาพที่มี (The Best Version of Me) ในทุกบริบทของโลก และสังคมที่เปลี่ยนแปลง

“การเรียนการสอนแบบศิลปวิทยาศาสตร์ที่เป็นปรัชญาการจัดการศึกษาของ MUIC ได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งจากนักเรียนนักศึกษาที่ต้องการประสบการณ์การศึกษาที่ครอบคลุม มีมุมมองที่กว้างไกล และเป็นสากล โดยปัจจุบัน MUIC มีการจัดการเรียนการสอนในหลากหลายสาขา ได้แก่ ธุรกิจระหว่างประเทศ การตลาด การต่างประเทศนิเทศศาสตร์ ศิลปการสื่อสาร วัฒนธรรมและภาษา การท่องเที่ยววิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และชีววิทยา”

“โดยในสาขาชีววิทยา นักศึกษา MUIC สามารถเลือกเรียนลงลึกได้อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสุขภาวะ (Wellness) นิเวศวิทยา(Ecology) และที่เป็นที่นิยมมากที่สุด คือ ชีวการแพทย์ (Biomedical Science) ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานสู่การเรียนแพทย์ในแบบหลังปริญญา (Graduate – Entry) อันเป็นรูปแบบหลักในการจัดหลักสูตรแพทยศาสตรศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา”

“ซึ่งการรับบุคคลเข้าเรียนแพทย์หลังปริญญาตรีนี้ เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตแพทย์ที่มีความเป็นมืออาชีพ พร้อมเป็นบัณฑิตที่มีความสามารถในการสื่อสาร ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการเรียนระดับปริญญาตรีในการเสริมสร้างงานวิชาการ งานวิจัย และนวัตกรรมทางการแพทย์ให้แก่องค์กรอีกด้วย” รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง จุฬธิดา โฉมฉาย กล่าว

MUIC เป็นต้นทางในการผลิตบัณฑิตแพทย์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จ (St.George’s University – SGU) มหาวิทยาลัยการแพทย์นานาชาติในเกาะแคริบเบียนของประเทศเกรเนดา โดยบัณฑิตสาขาชีววิทยาสามารถจะไปเรียนต่อแพทย์อีก 4 ปี และมีโอกาสฝึกงานเป็นแพทย์ประจำบ้าน (Residency Training) ต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือสหราชอาณาจักรได้

ในปัจจุบันมีนักศึกษา MUIC ที่เป็นแพทย์ฝึกหัดที่ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือสหราชอาณาจักร ผ่านแนวทางดังกล่าวแล้วกว่า 10 คน และได้รับทุนการศึกษาจาก SGU รวมเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ ศิษย์เก่า MUIC ยังสามารถเข้าศึกษาต่อโรงเรียนแพทย์ชั้นนำได้ทั่วโลกอาทิ Duke NUS School of Medicine ที่ประเทศสิงคโปร์ และ Monash University School of Medicine ที่ประเทศออสเตรเลีย อีกด้วย

และล่าสุด จากการที่ MUIC ประสบความสำเร็จในการผลิตบัณฑิตที่สามารถเข้าเรียนต่อแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ระดับนานาชาติเหล่านี้ได้อย่างไร้รอยต่อ จึงได้ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ (Macquarie University) ประเทศออสเตรเลีย ผลิตบัณฑิตในลักษณะเดียวกัน ซึ่งผู้สำเร็จการศึกษาที่มีคุณสมบัติตามกำหนดจะสามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยแมคควอรี่ได้

“ฉันไม่ได้ต้องการให้เธอเป็นเพียงหมออย่างเดียวเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย” พระราชดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ “สมเด็จพระราชบิดา” ของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ได้พิสูจน์แล้วว่า มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันที่ผลิตแพทย์คุณภาพเพื่อมวลมนุษยชาติมาตลอด 51 ปีแห่งวันพระราชทานนาม และ 132 ปี มหาวิทยาลัยมหิดล”

“และการผลิตบัณฑิตผ่านการเรียนการสอนแบบศิลปวิทยาศาสตร์ จากสาขาชีววิทยา (Biological Science) ของ MUIC นี้ ถือเป็นกำลังสำคัญอีกส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ที่ช่วยต่อยอดให้บัณฑิตไปสู่ฝั่งฝันของการเป็นแพทย์ระดับ World Class ได้อย่างภาคภูมิ เต็มศักยภาพของตัวเองในทุกๆ ด้าน และเป็นอีกหนึ่งใน “Best Version of Me” ของความเป็นศิษย์เก่า MUIC” รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงจุฬธิดา โฉมฉาย กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามรายละเอียดหลักสูตรที่น่าสนใจของ MUIC ได้ที่ www.muic.mahidol.ac.th