สสส. ห่วงเด็กเล็กติดจอ ขาดกิจกรรมเล่นสนุก หนุนโครงการ COACT จัดโปรแกรม Learning @ Home ตัวช่วย “ครอบครัว” ดูแลลูก พัฒนาการไม่สะดุด เปลี่ยนบ้านเป็นโรงเรียนแสนสุข เน้นเรียนรู้ไร้รอยต่อ ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศ
นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มีการปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) ทั่วประเทศ ซึ่งจากการสำรวจเด็กปฐมวัย ชั้นเตรียมอนุบาล และอนุบาลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 6 แห่ง จำนวน 417 คน พบว่า การปิดศพด.ส่งผลต่อเด็กๆ 4 ประการสำคัญ คือ 1. ถูกจำกัดพื้นที่ 2. ครอบครัวขาดกิจกรรมสร้างสรรค์ให้เด็ก 3. เด็กใช้เวลาอยู่กับจอใสมากขึ้น 4. เด็กขาดกิจกรรมเล่นสนุกกับเพื่อน สสส. จึงสนับสนุนแนวทางการเรียนรู้อยู่ที่บ้าน (Learning @ Home) ผ่านโครงการสร้างเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย (โครงการ COACT) เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ให้เด็กในช่วงวิกฤตนี้ซึ่งเด็กอยู่บ้าน โดยเปลี่ยนบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็ก ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่ได้เน้นย้ำว่าโรงเรียนหยุดได้แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้
รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนทีมวิชาการโครงการ COACT กล่าวว่า ได้พัฒนารูปแบบความร่วมมือของครูและผู้ปกครองในการเสริมสร้างการเรียนรู้ที่บ้าน Learn@Home เป็นโปรแกรมตัวช่วยให้ครอบครัวสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้พัฒนาอย่างต่อเนื่องแม้ศูนย์เด็กเล็กจะปิดยาว โดยครูผู้ดูแลเด็กร่วมมือกับผู้ปกครองพัฒนารูปแบบ จัดประสบการณ์เรียนรู้สำหรับเด็กอายุ 2-6 ปี ในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค.2563 มีการนำร่องในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ศพด.) ที่เป็นศูนย์เรียนรู้ 21 แห่ง และขยายผลไปอีก 300 แห่ง เพื่อให้สามารถจัดการเรียนรู้แบบไร้รอยต่อระหว่างบ้านและศพด.เน้นการเรียนรู้จากการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดประสบการณ์ตรง ส่งเสริมพัฒนาการเด็กให้สมวัยทั้ง 4 ด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา บูรณาการผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย ซึ่งเครื่องมือสำคัญที่ทาง COACT พัฒนาขึ้นคือ ตารางกิจกรรมที่ครบเนื้อหาและขั้นตอนมีหลักสูตรเสริมสร้างการเรียนรู้ที่บ้านสำหรับเด็กปฐมวัยและสอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
“ได้พูดคุยกับผู้ปกครอง พบว่าบางคนตกงาน อยู่บ้านทั้งวันไม่รู้จะเล่นอะไรกับลูก ทุกคนรู้สึกเครียด เด็กก็ไม่มีเพื่อนเล่น ขณะที่สสส.ห่วงว่าเมื่อเด็กอยู่บ้านนาน จะทำให้เด็กวัยนี้ติดมือถือ แท็บเล็ต เพราะผู้ปกครองไม่รู้จะหากิจกรรมอะไรให้ลูกทำ บางครั้งจำเป็นต้องให้ลูกเล่นโทรศัพท์มือถือ ทั้งๆที่ เด็กวัยนี้ไม่ควรอยู่กับจอใสทั้งมือถือและทีวีเกิน 1 ชม./วัน ดังนั้น การที่ศพด.จะจัดการเรียนการสอนที่บ้านจึงต้องทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ผู้บริหารท้องถิ่น ครูและกลุ่มอสม. เพื่อให้เข้าใจและร่วมมือกัน เพราะการปรับการเรียนรู้ให้เหมาะสมภายใต้ข้อจำกัดเป็นสิ่งจำเป็น เราจัดอบรมผู้ปกครอง สอนเทคนิคการเล่านิทาน การทำสื่อการสอน โดยพ่อแม่จะถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอส่งทางไลน์ ซึ่งจะมีกลุ่มไลน์ของคุณครูและพ่อแม่ คุณครูจะเข้ามาชื่นชมเด็กๆ ผ่านคลิปวีดีโอ ส่วนครอบครัวที่ไม่ใช้ไลน์ ครูจะออกเยี่ยมบ้านเพื่อประเมินพัฒนาการของเด็ก มีของเล่นเสริมพัฒนาการที่จะนำไปให้เด็กๆ ที่บ้านพร้อมกับส่งอาหารกลางวัน ขณะเดียวกันสสส.ได้สนับสนุนหน้ากากผ้า สำหรับเด็กด้วย”รศ.ดร.จุฑามาศ กล่าว
นางสุทธินันท์ จันทร์เทพ ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก วัดพรหมวิหาร ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า ศพด. ได้เปิดรับเด็กในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเด็กกลุ่มนี้ต้องปรับให้เรียนที่บ้าน ในเบื้องต้นได้ทำตารางการเรียนไว้ 8 สัปดาห์เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา มีคุณครู 8 คนให้คำแนะนำผู้ปกครองผ่านกลุ่มไลน์ ซึ่งตารางเรียนปรับให้เหมือนกับมาเรียนที่ศูนย์เด็กเล็กเพื่อให้เด็กปรับตัวได้เมื่อเปิดศูนย์ สำหรับตารางการเรียนที่บ้านของเด็กวัยก่อนอนุบาลไม่ได้ซับซ้อน เน้นการส่งเสริมการช่วยเหลือตัวเองและทำทุกอย่างด้วยตัวเอง สำหรับตัวอย่างตารางเรียนที่บ้านเริ่มจากตื่นนอน 7 โมงเช้า ฝึกให้ลูกล้างหน้าแปรงฟัน ล้างมือ 7 ขั้นตอน ครูส่งคลิปทานอาหารเช้า แนะนำเรื่องอาหารว่าง ถ่ายคลิปการแนะนำตัวของลูก เช่น ลูกชื่ออะไร ให้เด็กบอกชื่อโรงเรียน กิจกรรมเคลื่อนไหวออกำลังกายโดยปรับให้เข้าวิถีชีวิตเช่น ปั่นจักรยาน เต้นประกอบเพลง เป็นต้น