ดูแลลูกอย่างไรให้สูงสมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี อย่างมีคุณภาพ

104

วิถีชีวิตที่ผูกติดอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กับการรับประทานอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ และการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ ส่งผลต่อภาวะอ้วนในเด็กวัยเรียน ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพและการเติบโตในอนาคต

รายงานจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เด็กวัยเรียนมีปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วน รวมทั้งมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอน้อยมาก เพียงร้อยละ 27 จึงต้องเร่งสร้างพฤติกรรมกระโดดโลดเต้นเล่นสนุก จนรู้สึกเหนื่อยหรือหอบ อย่างน้อยวันละ 60 นาทีทุกวัน ร่วมกับการฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อวันเว้นวัน ฝึกความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อเอ็นและข้อต่อทุกวัน ร่วมกับการกินอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อให้เด็กไทยสูงสมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี อย่างมีคุณภาพ

Banner image created by Jeswin – Freepik.com

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนา  “เกณฑ์คุณภาพการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กวัยเรียน” ณ โรงแรมเดอะรอยัลริเวอร์ บางพลัด กรุงเทพมหานคร ว่า ปัญหาการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอของเด็กวัยเรียน ก่อให้เกิดภาวะเด็กเริ่มอ้วน เด็กอ้วน เด็กเตี้ยเริ่มอ้วน เด็กเตี้ยอ้วน เด็กผอม เด็กไม่แข็งแรง ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในเด็กวัยเรียนมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ผลกระทบของโรคอ้วนจะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพและทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยรวมในอนาคต ซึ่งสถานการณ์ปัญหาด้านสุขภาพของเด็กวัยเรียนปัจจุบันพบว่า ปัญหาภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนอยู่ที่ร้อยละ 11.4 สูงดีสมส่วนเพียงร้อยละ 65 รวมทั้งปัญหาการมีกิจกรรมทางกายเพียงพอน้อยมาก เพียงร้อยละ 27 ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่จะขัดขวางการเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ

“กระบวนการส่งเสริมให้เด็กสูงสมส่วนแข็งแรง และมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอนั้น จำเป็นที่ต้องอาศัยการกระโดดโลดเต้นเล่นสนุกจนรู้สึกเหนื่อยหรือหอบ อย่างน้อยวันละ 60 นาที ทุกวัน ร่วมกับการฝึกความแข็งแรงกล้ามเนื้อวันเว้นวัน ฝึกความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อเอ็นและข้อต่อทุกวัน ร่วมกับการกินอาหารครบหมู่ ดื่มนมวันละ 2 แก้ว เพิ่มไข่วันละ 1 ฟอง และนอนหลับให้เพียงพอวันละ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน โดย ครู บุคลากรสาธารณสุข ผู้ปกครอง มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และในส่วนของการทำกิจกรรมทางกาย

Background image created by Pressfoto – Freepik.com

ควรมีผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ความสามารถอยู่ใกล้ตัวเด็ก และเด็กสามารถเข้าถึงการทำกิจกรรมทางกายได้ง่าย สนุก ท้าทาย และไม่โดนบังคับ จะทำให้เด็กออกกำลังกายได้นานขึ้นและต่อเนื่อง ซึ่งหากขาดความสนุกสนานเด็กจะเกิดความเบื่อหน่ายไม่อยากทำกิจกรรมทางกาย และกลับเข้าสู่สภาวะเนือยนิ่งที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ”

ด้านนายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินการแก้ปัญหาเด็กทำกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอและปัญหาเด็กอ้วนด้วยโครงการโชป้า แอนด์ ชายด์ป้า เกมส์ ลดเรียน เพิ่มรู้ สู่อาเซียน โดยพัฒนานวัตกรรมออกกำลังกายสำหรับเด็ก จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ จิงโจ้ยืดตัว จิงโจ้ FUN for FIT และเก้าอี้..ขยี้พุง ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย นำร่องปี 2559 ได้เริ่มพัฒนาโรงเรียนต้นแบบ และขยายผลต่อเนื่องในปี 2560 ไปยัง 4,600 โรงเรียน ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่า ผู้บริหารสถานศึกษา ครู ผู้ปกครอง นักเรียน และบุคลากรสาธารณสุขที่ดูแลโรงเรียน ร้อยละ 100 ชื่นชอบ เห็นคุณค่าต่อการเข้าร่วมโครงการฯ และเสนอแนะให้มีการขยายสู่โรงเรียนอื่นๆ รวมทั้งขยายสู่ผู้ปกครองและชุมชนด้วย เด็กที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 97.8 มีความสุขและสนุกกับการร่วมทำกิจกรรม เด็กที่เป็นโรคหอบหืด นอนกรน ภูมิแพ้ หวัด มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อาการปวดเมื่อยลดลง และนอนหลับสนิทขึ้น และในปี 2561 นี้ ได้จัดทำเครื่องมือเพื่อพัฒนาในเชิงคุณภาพต่อไป

“ทั้งนี้ การประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือและระดมความคิด ในการพัฒนาเกณฑ์คุณภาพ การดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กวัยเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับเครือข่ายใช้ในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมตามบริบท และบรรลุเป้าประสงค์ โดยเด็กวัยเรียนมีกิจกรรมทางกายเหมาะสมเพียงพอ เจริญเติบโตเต็มศักยภาพและมีทักษะสุขภาพ ภายใต้กระบวนการดำเนินงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อให้เด็กไทย สูงสมส่วน แข็งแรง IQ EQ ดี อย่างมีคุณภาพต่อไป”

ข้อมูลจาก กรมอนามัย http://www.anamai.moph.go.th

ภาพ https://www.freepik.com