หนาวมาหลายวันแล้ว ไม่รู้ว่าจะหนาวอีกนานแค่ไหน เรื่องที่ลำบากใจที่สุดอีกเรื่องในตอนนี้คือการอาบน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่ออกเดินทางไปท่องเที่ยวสภาพอากาศที่หนาวมากๆ ซึ่งวันนี้เครื่องทำน้ำอุ่นเท่านั้น ที่ช่วยท่านได้
แต่หากไปในพื้นที่ไกลๆ อย่างป่าเขาลำเนาไพร หรือสไตล์ที่ของที่พักที่ไม่ใช้ไฟฟ้า รูปแบบของเครื่องทำน้ำอุ่นก็จะถูกดัดแปลงไป หลายคนอาจจะเคยเห็นเครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก้ส ซึ่งเป็นหนึ่งในอันตรายที่อยากจะเล่าสู่กันฟังไว้ เพื่อจะได้ระมัดระวังและใช้ให้ถูกวิธี
รายงานจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ระบุว่า สถานการณ์การบาดเจ็บและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊ส ตั้งแต่ปี 2551-2560 มีรายงานเหตุการณ์ทั้งสิ้น 20 เหตุการณ์ มีผู้ป่วย 29 ราย และเสียชีวิต 7 ราย
เฉพาะในปี 2560 ได้รับรายงาน 4 เหตุการณ์จาก จ.เชียงใหม่ มีผู้ป่วย 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย สาเหตุเกิดจากการสูดดมแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์จากเครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊ส ซึ่งมาจากปฏิกิริยาการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ โดยทำให้เกิดอาการหน้ามืด มึนงง ขาดอากาศหายใจ หมดสติ และทำให้เสียชีวิต”
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ (วันที่ 25 – 31 ธ.ค. 60) คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยและเสียชีวิตขณะอาบน้ำในห้องน้ำที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊สเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงหน้าหนาว และมักมีการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น ภูเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตามสถานที่พักในแหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง มักมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊ส
ทั้งนี้นักท่องเที่ยวที่ไม่ได้ตระหนักหรือไม่ทราบเกี่ยวกับภัยดังกล่าว จึงมีความเสี่ยงต่อการป่วยและเสียชีวิตได้ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือระบบระบายอากาศในห้องน้ำไม่เหมาะสม ดังนี้
1.ไม่มีช่องพัดลมระบายอากาศหรือมีเพียงช่องหน้าต่างเล็กๆ
2.อาบน้ำหรือทำกิจกรรมในห้องน้ำเป็นเวลานาน
3.อาบน้ำเป็นลำดับท้ายๆ โดยมีการอาบน้ำต่อเนื่องกันหลายคนและไม่ได้เปิดประตูให้มีการระบายอากาศเพียงพอก่อนที่คนต่อไปจะเข้าไปอาบ
4.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคระบบทางเดินหายใจ หรือสุขภาพไม่แข็งแรง
5.ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดใช้ก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐาน (มอก.) ที่กำหนด
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการที่พัก รีสอร์ท สถานที่ปฏิบัติธรรม และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ตรวจสอบและติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊สที่ได้มาตรฐาน ติดป้ายเตือนความเสี่ยงและอันตรายที่อาจเกิดขึ้น พร้อมบอกวิธีลดความเสี่ยง เช่น ไม่ควรใช้เครื่องทำน้ำอุ่นนานเกิน 10-15 นาที ถ้าใช้เครื่องทำน้ำอุ่นไม่ควรอาบน้ำต่อเนื่องกัน ติดป้ายวิธีใช้งานของเครื่องทำน้ำอุ่นไว้อย่างชัดเจน และติดตั้งในห้องที่มีช่องระบายอากาศเพียงพอ มีพัดลมระบายอากาศ หรือติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊สไว้ด้านนอกอาคาร เป็นต้น