เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) นำโดย รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย ได้นำงานวิจัยบางส่วนมาร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020)” ณ ห้อง Lotus Suite 1 – 4 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
รศ.ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ ประธานเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย เปิดเผยว่า เครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย (Research University Network : RUN) ซึ่งเป็นการรวมตัวของมหาวิทยาลัย 8 แห่ง ประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , มหาวิทยาลัยมหิดล , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร เกิดขึ้นภายใต้แนวคิด “Sexy way” ด้วยความจริงใจ (Sincerely) ความเท่าเทียม (Equally) และความมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Excellently)
โดยในปี 2563 นี้ RUN ได้นำผลงานวิจัยที่มุ่งเน้นประเด็นที่มีความสำคัญในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ประกอบไปด้วย งานวิจัยด้านพลังงาน งานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและภัยพิบัติ งานวิจัยด้านเกษตรและอาหาร งานวิจัยด้านวัสดุศาสตร์ งานวิจัยด้านสุขภาพ งานวิจัยด้านการศึกษาทางภูมิภาคอาเซียน งานวิจัยด้านหุ่นยนต์ งานวิจัยด้านดิจิตอล และงานวิจัยด้านโลจิสติกส์ จำนวนกว่า 30 ผลงาน จาก 8 มหาวิทยาลัย และคลัสเตอร์วิจัยทั้ง 10 คลัสเตอร์
โดยผลงานวิจัยของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย จัดแสดงภายในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้ Theme : “RUN Forward : Moving Thailand Future” และในภาคการประชุมได้จัด ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ทิศทางการวิจัยและการบริหารงบประมาณด้านวิจัยของประเทศ ในยุค New Normal”
นอกจากนี้ วันที่ 5 สิงหาคม 2563 ยังมีงานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในหัวข้อ“การส่งเสริมนักวิจัยไทย ภายใต้ระบบการจัดสรรทุน PMUs” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ณ ห้อง World Ballroom ชั้น 23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
โดยในงานเสวนายังได้มีการนำงานวิจัยเด่นและผลงานวิจัยร่วมใน 10 คลัสเตอร์ ของเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยเพื่อการวิจัย มาร่วมจัดแสดงภายในงานแถลงข่าวครั้งนี้ จำนวน 4 ผลงาน ได้แก่
1. การพัฒนาพันธุ์ไม้ดอกไทยก้าวไกลสู่ตลาดสากล โดย ศ.ดร.โสระยา ร่วมรังษี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผลงานเด่น มช.)
2. จูนใจ : แชทบอทผู้ช่วยเหลือเรื่องอารมณ์ โดย ดร.กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี มหาวิทยาลัยมหิดล (ผลงานเด่นคลัสเตอร์ดิจิทัล)
3. แอปพลิเคชันตรวจสอบชนิดยาและแจ้งเตือนกินยาสำหรับผู้สูงอายุและผู้ดูแล โดย ผศ.ดร.นริศ หนูหอม มหาวิทยาลัยมหิดล (ผลงานเด่นคลัสเตอร์ดิจิทัล)
4. SHYFTE – Building Skills4.0THroughUniversitY and Entreprise Collaboration โดย รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ผลงานเด่นคลัสเตอร์โลจิสติกส์)
” บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของมหาวิทยาลัย คือ การค้นหาองค์ความรู้และนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดในการเรียนการสอนและนำไปพัฒนาสังคม เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งในปัจจุบันนักวิจัยและงานวิจัยถือเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆของประเทศ แต่ด้วยสภาวการณ์ที่บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งทุนวิจัยที่ค่อนข้างจำกัด ตลอดจนลักษณะการทำงานวิจัยของคณาจารย์ที่ยังไม่รวมศูนย์ ส่งผลให้ยังไม่ก่อให้เกิดแผนโครงการใหญ่ที่สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศได้” รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย