แบงก์ชาติปรับเกณฑ์ หวั่น NPL ลามระบบเศรษฐกิจ

41

ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับเงื่อนไขคลินิกแก้หนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ขยายเวลารองรับกลุ่ม NPL ลดระยะเวลาแบล็กลิสต์ต่ำกว่า 5 ปี ชี้แนวโน้ม NPL พุ่ง ลามระบบเศรษฐกิจไทย

นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการคลินิกแก้หนี้เห็นชอบให้ปรับปรุงเงื่อนไขของโครงการ 2 เรื่อง คือ การปรับคุณสมบัติลูกหนี้โดยเลื่อนวันของการเป็น NPL (วัน cut-off date) และการปรับเกณฑ์ห้ามก่อหนี้ใหม่ เพื่อให้โครงการสามารถขยายความช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างมากขึ้น สอดคล้องกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในระยะที่ 2 ของ ธปท. รวมทั้งกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องเสนอแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ ให้แก่ลูกหนี้ที่ต้องการแก้ปัญหา มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้สมัครเข้าโครงการ จากเดิมผู้สมัครต้องเป็นหนี้เสีย หรือ NPL ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563 มาเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อขยายความช่วยเหลือและรองรับลูกหนี้ที่กลายเป็น NPL ในช่วงครึ่งแรกของปีจากผลของวิกฤตโควิด 19 ให้ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที หลังจากปรับเงื่อนไขในครั้งนี้ คาดว่าจะมีลูกหนี้สนใจสมัครเข้าโครงการจำนวนมาก และทำให้ขั้นตอนการพิจารณาใช้เวลานานกว่าช่วงปกติอยู่บ้าง จึงขอให้ผู้สมัครยื่นและเตรียมเอกสารให้ครบถ้วน ซึ่งจะช่วยให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเมื่อทราบผลการพิจารณาแล้ว โครงการจะติดต่อกลับเพื่อแจ้งผลให้ทราบโดยเร็ว

2.ปรับเกณฑ์ห้ามก่อหนี้ใหม่ให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยปัจจุบันกำหนดให้ผู้เข้าโครงการห้ามก่อหนี้ใหม่ภายในเวลา 5 ปี แต่ครั้งนี้ได้เพิ่มเกณฑ์ว่าหากผู้เข้าร่วมโครงการสามารถผ่อนชำระเงินต้นได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ก็สามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ ซึ่งอาจใช้เวลาไม่ถึง 5 ปี อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อขึ้นกับหลักเกณฑ์ของผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่ง

“การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้มุ่งหวังเพื่อจูงใจให้ลูกหนี้สมัครเข้าโครงการคลีนิกแก้หนี้มากขึ้น เพราะบางส่วนกังวลเรื่องห้ามก่อหนี้ใหม่ 5 ปี อีกทั้งเพื่อจูงใจให้ลูกหนี้เร่งชำระหนี้คืน หรือชำระหนี้เมื่อมีเงินก้อนถ้ายังพอมีความสามารถ” นางธัญญนิตย์กล่าว

3.ตามที่ ธปท. ประกาศมาตรการพื้นฐานขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในระยะที่ 2 เพื่อช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตโควิด สิ่งหนึ่งที่มาตรการในระยะที่ 2 ได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น คือ ผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องมีมาตรการสำหรับกลุ่มที่เป็น NPL แล้ว ดังนั้น ผู้ให้บริการทางการเงินจะต้องจัดให้มีช่องทางหรือกลไกแก้ไขหนี้ในลักษณะเดียวกับคลินิกแก้หนี้ รวมทั้งมีแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เอื้อต่อการผ่อนชำระเช่นเดียวกับโครงการคลินิกแก้หนี้ และเสนอให้ลูกหนี้พิจารณา เพื่อให้ลูกหนี้ที่เป็น NPL นอกจากจะสมัครเข้าโครงการแล้ว ยังสามารถขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนได้โดยตรงกับผู้ให้บริการทางการเงิน

ธัญญนิตย์ นิยมการ

ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า ผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 จะส่งผลให้จำนวนลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อ ส่วนบุคคล (หนี้บัตร) มีแนวโน้มกลายเป็นหนี้เสียสูงขึ้น ดังนั้น การที่เจ้าหนี้และลูกหนี้สามารถตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ร่วมกันจะเป็นวาระทางเศรษฐกิจที่สำคัญมาก โดยเฉพาะหนี้บัตรซึ่งเป็นหนี้ที่มีจำนวนบัญชีลูกหนี้มากที่สุดในบรรดาหนี้รายย่อยทั้งหมด ความสำคัญของแผนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กลางของโครงการคลินิกแก้หนี้จึงอยู่ที่การเป็นหนึ่งในทางออกที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาหนี้บัตรของลูกหนี้รายย่อยจำนวนมาก ลุกลามกลายเป็นวิกฤตหนี้รายย่อยที่อาจจะมีการฟ้องร้องดำเนินคดี ยึดทรัพย์ในวงกว้าง ซึ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นไม่สามารถประเมินเป็นตัวเงินได้

ประชาชนที่สนใจสามารถติดตามการเปิดรับสมัครและข่าวสารของโครงการได้หลายช่องทาง ได้แก่ ผ่านทาง Website LINE Facebook หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 0 2610 2266 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-17.00 น.

นางธัญญนิตย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อหากมีผู้แอบอ้างว่าเป็นตัวแทน ธปท. ที่จะสามารถช่วยท่านเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือช่วยเรื่องอื่น ๆ โดยเรียกเก็บค่าใช้จ่ายดำเนินการเป็นการตอบแทน หากท่านมีข้อสงสัยหรือมีเบาะแส โปรดแจ้งข้อมูลและสอบถามข้อเท็จจริงได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213