ช่วงบ่ายกลางเดือนกรกฎาคมพวกเราทีม The Balance นัดพบกับ ปารเมศร์ รัชไชยบุญ ประธานกิตติมศักดิ์ นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย 4 สมัย ณ บ้านของเขาย่านเพชรบุรีตัดใหม่ ปารเมศร์ในวันนี้ไม่ต่างจากวันที่พวกเรารู้จักเมื่อ 30 ปีที่แล้ว หนุ่มวัย 64 ยังพูดคุยสนุก พูดจาแบบกันเอง ห้าวๆ ห้วนๆ แฝงด้วยอารมณ์ขัน
มีเพียงสิ่งเดียวที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของเขาคือ ร่างกายที่ดูอวบอัดขึ้น แววตาที่ดูสงบนิ่ง ซ่อนความสุขอิ่มเอบอยู่ภายใน ต่างจากปารเมศร์ในอดีต นักโฆษณาที่กระโดดโลดเต้นในวิชาชีพ อดหลับอดนอนทำงานให้ลูกค้า ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย พร้อมกับใช้ชีวิตแบบ “สุดโต่ง” สูบจัด ดื่มหนัก มีไวน์สุดโปรดเป็นเพื่อนรู้ใจ
ลึกๆปารเมศร์มั่นใจว่า เขาเป็นคนแข็งแรง ยังห่างไกลจากโรคร้าย เพราะเป็นคนออกกำลังกาย แต่ความคิดนี้ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อ 6 ปีที่แล้ว หลังที่เขาพบว่า ตัวเองเป็นโรค Wegener’s
โรคหายากที่ไม่ค่อยมีคนเป็น สถิติที่บันทึกไว้คือ ประชากร 1 ล้านคนมีโอกาสเป็นเพียง 5 คน และนั่นจึงเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเขา ที่ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตทั้งหมด
“พี่เป็นโรคนี้ เป็นคนที่ 15 ของประเทศไทย โดยคนที่ 14 เสียชีวิตแล้ว เหตุจากเลือดท่วมปอด….หมอบอกว่า ถ้าไม่รักษาก็อยู่ได้ไม่เกิน 11 เดือน” ปารเมศร์ ย้อนความให้พวกเราฟัง และสิ่งที่หมอบอกกับเขาในวันนั้น เขาก็รู้สึก “วูบ” ไปเหมือนกัน ไม่คิดว่า โรคนี้จะเกิดขึ้นกับตัวเอง
เมื่อความตายถามหา
เหตุเพราะไม่ค่อยมีคนรู้จักโรคนี้สักเท่าไร ทันทีที่รู้ว่าเป็นโรค Wegener’s ปารเมศร์เริ่มทำการหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆทันที เพื่อให้รู้เท่าทันและยังเพื่อปรับการใช้ชีวิต และพบว่า อัตราเสี่ยงที่จะตายของโรคนี้สูงมาก เขาอธิบายกับพวกเราง่ายๆว่า มันเป็นโรคเส้นเลือดกลางเป็นพิษ โดยหน้าที่ของเส้นเลือดนี้จะนำเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะสำคัญๆของร่างกายเช่น ปอด ไต และสมอง ถ้ามันเกิดอักเสบขึ้นมา เลือดจะเดินไปไม่ถึงอวัยวะนั้นๆได้ ผลตามมาคือ ทำให้อวัยวะนั้นๆเสื่อมไป
โรคนี้มาเยี่ยมเยือนปารเมศร์เมื่อ 6 ปีที่แล้ว มาวันหนึ่ง เขารู้สึกปวดหัวอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นไรมาก เขาขับรถเข้าโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ทันที แต่การขับเข้าไปโรงพยาบาลวันนั้น ทำให้เขาต้องรักษาตัวรวมๆเป็นเวลาถึง 3 เดือนเศษ การวินิจฉัยของแพทย์พบว่า เขาเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้ แต่ก็หาสาเหตุไม่เจอว่า เป็นโรคอะไรกันแน่ นอกจากนี้ ค่าตับและค่าไตของเขายังสูงขึ้นจนผิดปกติ จากนั้น เมื่อทำการวินิจฉัยต่อก็พบว่า เป็นโรค Wegener’s
เขาต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลพักหนึ่ง จากนั้นก็ออก โดยเขาคิดว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่ต่อมา ก็ถูกหามเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง เพราะเกิดอาการชัก มาคราวนี้เขาต้องรักษาไต โดยแพทย์ได้ใช้ยาสเตียรอยด์ปริมาณมากเพื่อยับยั้งอาการ มีครั้งหนึ่ง เคยใช้ถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน จนทำให้เกือบไตวาย และยังมีผลข้างเคียงคือ ผมร่วง หน้ากลมเป็นพระจันทร์ กระดูกพรุน ต้องถ่ายเลือดทั้งตัว 7 ครั้ง วันเว้นวัน
จากนั้น ปารเมศร์ย้ายมารักษาโรคที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะมีแพทย์ที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญการรักษาโรคนี้มาก่อน ซึ่งเขาเองก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นมากเพราะได้รับการรักษากับแพทย์ 2 ท่าน ทั้งยังโรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาบาลเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 100 ปี ได้รักษาคนไข้มากมายและรักษาโรคนี้มาก่อน ทำให้มีประสบการณ์ในการรักษามากกว่า อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นโรคหายาก เขาพูดติดตลกว่า วันหนึ่งขณะรักษาอยู่โรงพยาบาล มีนักเรียนแพทย์เข้ามาล้อมตัวเขาเต็มไปหมด เพื่อดูการรักษา ซึ่งเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งที่เขาไม่เคยเจอ
ปารเมศร์กลับใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่ก็ต้องมาเฉียดความตายอีกครั้ง เมื่อวันหนึ่งขณะทำภารกิจอยู่นอกบ้าน เขารู้สึกหายใจไม่ออกอย่างรุนแรง เหมือนคนดำน้ำ ที่หายใจไม่เข้า หายใจไม่ออก จากนั้น ก็รีบมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลใกล้เคียงทันที และแพทย์วินิจฉัยว่า เส้นเลือดไปเลี้ยงหัวใจขอด ทำให้ต้องทำบอลลูนหัวใจภายใน 3 ชั่วโมง ปารเมศร์บอกว่า อาการครั้งนี้มันทรมานมากกว่าครั้งก่อนๆ และถือเป็นการ “เฉียดความตาย” ที่ใกล้มากที่สุดในชีวิตเท่าที่เคยเจอมา
“จะตายมาหลายครั้ง อันที่ใกล้ที่สุดคือ หัวใจวาย ก็รู้ว่าโรคนี้รุนแรง ก็ไม่ได้แสดงอาการอะไร ไตจะวาย พี่ก็เดินได้ปกติ มีแค่ค่าไต ตอนชักก็ไม่รู้ตัว ตื่นมาก็ไม่ชัก ฉีดยาเสร็จ ก็มาเช็คสมอง แต่ตอนหัวใจวาย มันใกล้เลย หายใจไม่ออก ทรมานเหลือเกิน ไม่อยากให้ใครได้เจอ”
การพบมรสุมจากโรคร้าย ทำให้เขาเริ่มทบทวนชีวิตตนเองที่ผ่านมา และบอกกับตัวเองว่า หากจะรอด ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต
สู่โหมด Balance of Life
การรักษาโรคนี้ต้องรักษาไปตามอาการ ขณะที่อีกด้านหนึ่งคือ ต้องปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ควบคู่กันไป และปารเมศร์เองต้องเข้าใจกับสิ่งนี้ ดังนั้น เขาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนชีวิตเขาสู่โหมด Balance of Life
“เราไม่รู้จริงๆ (กับโรคนี้) ถ้าเป็นมะเร็ง ก็พอจะรู้ว่าโอกาสเป็นอย่างไร แต่โรคนี้ ก็ไม่มีใครตอบอะไรได้เลย เพราะต้องรักษาตามอาการ จากไต รักษาไตจนดีขึ้น ค่าไตดีขึ้นอยู่ คนปกติ 0.8-1.1 พี่ไป 3.8 เกือบ 4 ถ้า 4 ก็ไตใจวายตายละ ตอนนี้พี่ 1.59 – 1.7 ก็ด้วยอายุด้วย ไตเป็นแผลเป็นแล้ว มันไม่กลับเหมือนเดิมแล้ว ก็ลดในระดับที่หมอพอใจ อยู่กับระเบิดเวลา ก็ไม่รู้ว่าเส้นเลือดจะอักเสบอีกหรือเปล่า”
แพทย์ที่ดูแลปารเมศร์มีข้อห้ามการใช้ชีวิตอยู่หลายข้อคือ ห้ามบุหรี่ ห้ามดื่มเหล้า ห้ามกินของอร่อย และห้ามเครียด แต่สิ่งที่เขาสงสัยมากที่สุดคือ “อะไรคือของอร่อย” ในนิยามของหมอ คำตอบที่ได้ก็คือ อาหารปิ้งย่าง เนื้อย่าง ห้ามหมด ซึ่งเป็นสิ่งเขาชอบ เขาจึงเปรยกับหมอ ว่า ถ้าอย่างนั้นจะมีชีวิตอยู่ไปทำไม ถ้าทานสิ่งที่ชอบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ปารเมศร์เข้าใจในความหวังดีของหมอ ที่อยากเห็นคนไข้มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงจากโรคที่เป็น ดังนั้น เขาจึงเลือกเดินด้วยทางสายกลางโดยการรับประทานอาหารด้วย “ความสำนึก” อยู่ตลอดเวลา ทานอย่างระวัง ไม่ทานมาก ทานเพื่อได้ลิ้มรสและไม่ให้ชีวิตจืดชืดจนเกินไป เป็นความสุขทางใจเล็กๆของคนในวัยเกษียณ ในยามที่ชีวิตไม่มีทางเลือกมากนักเหมือนคนหนุ่มสาว
อีกด้าน เขาพยายามจัดสรรเวลาชีวิตของเขาใหม่อย่างสมดุล ใช้ชีวิตอย่างระวังมากขึ้น เริ่มกลับไปออกกำลังกาย ว่ายน้ำ เข้ายิม ยกน้ำหนัก ขณะที่อาหารก็พยายามเลือกทาน ไม่กินของมัน ของทอด (พอมีบ้าง) นอกจากนี้ ไม่ดื่มเหล้าหนัก เลิกบุหรี่ ไม่ทำหนักแบบเหมือนแต่ก่อน ขณะที่การทำงานก็ลดเหลือ 2-3 วัน จากเดิมที่ทำอย่างหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้มีเวลาเหลือกับตัวเอง การมีงานน้อย ก็มีความเครียดน้อยตามมา
“ก่อนหน้า 6 ปี พี่ทำแต่งาน ไม่ดูแลร่างกาย นอนดึก สูบบุหรี่จัด ดื่มหนัก เครียด ไม่ค่อยตรวจร่างกาย ใช้ “ร่างกาย” อย่างหนัก ทุกอย่าง “หนัก” หมด”
เขาเปรียบเปรยชีวิตมนุษย์เหมือน Juggler ตัวตลกละครสัตว์ ที่แสดงความสามารถในการโยนลูกบอล 5 ลูกสลับไปมาโดยไม่ตกพื้น ลูกบอลทั้ง 5 มีชื่อว่า self (ตัวเอง), health (สุขภาพ), wealth (ความร่ำรวย), family (ครอบครัว) และ friends (เพื่อน) โดย wealth เป็นลูกยางลูกเดียวใน 5 ลูก ที่ตกแล้วไม่แตก มันเด้งกลับขึ้นได้เสมอและคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ wealth อย่างเดียว ขณะที่ลูกบอลอีก 4 ลูกเป็นแก้วนั้น อ่อนไหวเหลือเกิน คนละเลยดูแลตัวตน สุขภาพ ครอบครัวและเพื่อนฝูง ถ้ามันแตก มันก็ทำให้ชีวิตพังไปหมด
การปรับเปลี่ยนชีวิตใหม่ ทำให้ปารเมศร์ค้นพบความสุขที่เขาไม่เคยเจออีกด้วย เขาบอกว่า ความสุขในครั้งอดีตเทียบไม่ได้กับความสุข ณ ขณะนี้ได้เลย กล่าวคือ สมัยก่อน สุขไปวันๆ ทุกข์ไปวันๆ ไม่ยั่งยืน ตอนนี้ มันเป็นเรื่องเป็นราว มันสงบนิ่ง มันสุขอิ่มอยู่ข้างใน มันสุขกว่ากันเยอะ เขาบอกว่า ก่อนเป็นโรค งานที่ทำมีความเครียดสะสมเยอะ เครียดโดยไม่รู้ตัว จนความเครียดเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ขึ้น นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า ชีวิตมนุษย์ไม่มีอะไรที่จีรัง ไม่มีอะไรยึดถือได้เลย
“พี่เคยอยู่จุดสูงสุดมาแล้ว วันนี้ มีคนมาถาม เป็นอะไร เคยทำอะไร เป็นเออีหรือ ครับก็ได้ บริษัทพี่เอง ไม่มีใครรู้จักเราแล้ว ขึ้นเป็นก็ต้องลงเป็น ในที่สุดก็กลับมาที่ตัวตน ครอบครัว เราเคยสนใจกับชื่อเสียงต่างๆนาๆ มันเป็นสิ่งที่ไม่จีรัง ยึดติดมันทำไม มาแล้วก็ไป ก็แค่นั้นเอง แต่ตนตัว ครอบครัวของเรา และคนที่เรารัก”
ปารเมศร์ บอกว่า จากนี้ไปไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตของเขา โรคนี้มันเหมือน “ระเบิดเวลา” ต้องอยู่กับมันด้วยสติและด้วยความสำนึกของการระวังตัวอยู่ตลอดเวลา
“ทุกวันนี้ ตื่นขึ้นมาก็กำไรแล้ว” เขากล่าวทิ้งท้าย