จากที่กรมควบคุมมลพิษ ประมาณการว่าขยะพลาสติกในไทยจะมีมากกว่า 2 ล้านตันต่อปี หรือ คิดเป็น 12% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด ถึงแม้ว่าบางส่วนจะถูกกำจัดหรือนำกลับไปใช้ประโยชน์ แต่ก็มีอีกราว 1 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล และจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย เมื่อปีค.ศ. 2015 ระบุไทย ติดเป็นอันดับ 6 ของโลกที่ทิ้งขยะพลาสติกลงสู่ทะเลมากที่สุดคิดเป็นปริมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี
จากตัวเลขดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยมีการรณรงค์ส่งเสริมให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษ์โลกและหลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกและ โฟมอย่างต่อเนื่อง ทำให้การออกแบบผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการในยุคนี้ต้องคำนึงถึงปัญหาการกำจัดซากขยะ และการเลือกใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ใช้แล้วสามารถปลูกทดแทนขึ้นมาใหม่ เพื่อรักษาปริมาณทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อีกทางหนึ่ง และยังก่อให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์รักษ์โลกรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมาย เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของสังคม และเหมาะสมกับการใช้งาน
หนึ่งโจทย์เพื่อลดปัญหาขยะ คือ การใช้ประโยชน์จากผักตบชวา ซึ่งคุณสมบัติของก้านผักตบชวาที่มีใยฟองน้ำด้านใน สามารถป้องกันสินค้าของคุณจากการกระแทกได้เป็นอย่างดี (ใช้แทนเม็ดโฟม) เหมาะสำหรับการขนส่งวัสดุ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาขยะทางน้ำ ด้วยการนำ “ผักตบชวา” มาสร้างให้เกิดประโยชน์อีกครั้ง
จากไอเดียของ “วศการ ทัพศาสตร์” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ตบชวา จำกัด ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นวัตกรรมกันกระแทก ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ที่เล็งเห็นว่าวัสดุกันกระแทกที่ห่อบรรจุภัณ์ฑล้วนแต่เป็นพลาสติกหรือโฟม ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อได้ จึงมีแนวคิดนำผักตบชวา ที่เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในแม่น้ำลำคลอง มาทดลองแพ็คสินค้า พร้อมจัดส่งจริงในระหว่างกลุ่มเพื่อน และส่งไปให้ทดลองใช้เอง กระทั่งในที่สุดได้นำมาพัฒนาสู่แบรนด์ ตบชวา กันกระแทก ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ช่วยเสริมสร้างอาชีพให้แก่ชุมชนด้วยการแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์กันกระแทก “ตบชวา” เป็นการใช้วัตถุดิบที่มีต้นทุนน้อย ถือเป็นนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้กับประชาชนอีกด้วย
คุณสมบัติของผักตบชวา สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ โดยการย่อยสลายจะสลายไปเป็นปุ๋ยดินสร้างประโยชน์ให้กับต้นไม้ต่อได้ เป็นวัสดุที่ทำจากธรรมชาติ 100% ไม่เป็นภัยต่อธรรมชาติ หลังการใช้งานเสร็จ ผักตบชวาตากแห้งสามารถนำไปทำประโยชน์ต่อได้อีก ไม่ว่าจะ นำไปเป็น ปุ๋ยต้นไม้, เชื้อเพลิงอัดแท่ง, รองกรงสัตว์เลี้ยง
ผลิตภัณฑ์จาก “กาบหมาก” หนึ่งภาชนะทางเลือก ขณะนี้ตลาดกำลังให้ความสนใจใช้สินค้าที่เป็นธรรมชาติให้มากขึ้น เป็นภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้บรรจุอาหารได้อย่างปลอดภัย น้ำหนักเบา ไม่แตกหักเสียหายง่าย สามารถใช้อุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟได้ทนต่ออุณหภูมิ 18-200 องศาเซลเซียส สามารถบรรจุของเหลวได้ไม่รั่วซึม ทนความร้อนได้ดี รวมถึงมีกลิ่นหอมและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และที่สำคัญคือ สามารถย่อยสลายได้ตามกระบวนการทางธรรมชาติ
ปัจจุบันบริษัท ภิญโญวานิช จำกัด ผู้ผลิตจานกาบหมากภายใต้แบรนด์ วีรษา สามารถผลิตออกสู่ตลาดได้ 1,500 ใบ/วัน รวม 10 รูปแบบ ขายในราคาใบละ 5-7 บาท ส่วนกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มคนรักสุขภาพ ผู้จัดงานอีเวนต์ ลูกค้าองค์กร การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ โรงแรม รีสอร์ต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีลูกค้าตามบ้านที่ต้องการซื้อในจำนวนไม่กี่ใบ สามารถสั่งซื้อได้ในเฟซบุ๊ก ‘จานกาบหมากวีรษา’ ซึ่งอนาคตเตรียมขายปลีกในโมเดิร์นเทรด ‘ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต’
หลอดทำจากวัสดุธรรมชาติ จึงเป็นทางเลือกใหม่ เพื่อช่วยลดปัญหาพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทย ได้มีการคิดค้นหาผลิตภัณฑ์ที่มาใช้แทนหลอดพลาสติกกันอยู่หลายวิธี และหนึ่งในนั้น คือ หลอดกินได้ ที่ทำจากพืช อย่างมันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด บุก และพืชอีกหลายชนิดที่สามารถนำมารับประทานได้ โดยมีบริษัท กัญจนาพร(สยาม)จำกัด เป็นผู้ผลิต และได้ผ่านกระบวนการผลิต ที่อยู่ภายใต้งานวิจัย ของหน่วยงานของภาครัฐ และสถาบันการศึกษา จนได้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลอดกินได้ สามารถแช่ในน้ำร้อนได้ 35 นาที และแช่ในน้ำเย็น และน้ำอุณหภูมิปกติได้ 6-12 ชั่วโมง โดยที่ยังคงรูปเหมือนเดิม และถ้าปล่อยไว้ให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ ใช้เวลาประมาณ30 วัน หรือถ้าจะรับประทาน ต้องแช่น้ำ 3-5 นาที หลอดนิ่มและรับประทานได้ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ ถ้ารับประทานเข้าไป ช่วยเกษตรกรให้ขายผลผลิตทางการเกษตรได้เพิ่มขึ้น