ทันตแพทย์ ม.อ.ระบุไม่มีการใช้โคเคนในวงการทันตกรรม ชี้ทั่วโลกยกเลิกการใช้มานานกว่า 100 ปี

167

นักวิชาการคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. ชี้ยาชาเฉพาะที่ในวงการทันตกรรมยุคปัจจุบันปลอดสารที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หลังวงการทันตแพทย์ของโลกประกาศยกเลิกการใช้โคเคนเป็นยาชาเฉพาะจุดมากกว่า 100 ปี หลังส่งผลกระทบต่อระบบการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงและหัวใจทำงานหนักขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพ. นฤทธิ์ ลีพงษ์ รองคณบดี โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า การพัฒนายาชาเพื่อใช้ในทางทันตกรรมในปัจจุบันมีความรุดหน้าไปมากและแตกต่างจากในอดีต โดยมีการพัฒนารูปแบบของสารที่มีโครงสร้าง Amide ที่มีคุณสมบัติทนความร้อนได้ดีกว่า มีความเสถียรคงตัวมากกว่าและมีอันตรายน้อยกว่า มาทำให้อยู่ในรูปแบบยาชาเฉพาะที่ใช้ในทางทันตกรรม เช่น ลิโดเคน (Lidocaine) เมพิวาเคน (Mepivacaine) หรือ อาติเคน (Articaine) เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพ. นฤทธิ์ ลีพงษ์

ส่วนการนำโคเคน (Cocaine) มาใช้ในวงการทันตกรรมนั้น ได้ถูกยกเลิกไปในช่วงศตวรรษที่ 19 หลังจากได้นำมาใช้ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งถือเป็นยาชาเฉพาะที่ตัวแรกที่โลกเคยนำมาใช้ในทางการแพทย์ เนื่องจากพิษของโคเคนที่มีผลกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิตเป็นอย่างมาก ได้ส่งผลทางอ้อมต่อร่างกาย โดยไปรบกวนกระบวนการเมตาบอลิซึ่มของสาร cathecolamine ในร่างกาย เป็นผลให้ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงและทำให้หัวใจทำงานหนัก

“ในอดีตการใช้โคเคนเป็นยาชาตัวแรกที่ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ แต่ก็ถูกยกเลิกไปแล้วมากกว่า 100 ปี เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทำให้การทำงานของหัวใจหนักขึ้นจากภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่วงการทันตกรรมในปัจจุบันจะใช้สารเคมีตัวดังกล่าวแก่ผู้ที่มาทำการรักษาอย่างแน่นอน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทพ.นฤทธิ์ กล่าว