กลุ่มคนตัว D จับมือ สสส.จัดค่าย D-Voice Camp พัฒนาศักยภาพเยาวชน

28

กลุ่มคนตัว D จับมือ สสส.จัดค่าย D-Voice Camp พัฒนาศักยภาพเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะ สร้างเครือข่าย ปลุกพลังคนรุ่นใหม่ สร้างคนไทยหัวใจฟู รอบรู้สุขภาพ เพื่อสังคมสุขภาวะ

นายวันชัย บุญประชา เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและที่ปรึกษากลุ่มคนตัว D กล่าวว่า กลุ่มคนตัว D จัดเวที D-Voice Camp “รวมพลเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะ”เพื่อถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนนักสื่อเสียงทางช่องทางออนไลน์ใน “กิจกรรมเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายนักสื่อสารสุขภาวะ สร้างคนไทยหัวใจฟู รอบรู้สุขภาพ เพื่อผลิตเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะมาเป็นกระบอกเสียงของตนเองและสื่อสารกับคนวัยเดียวกัน ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยมีนักสื่อเสียงมากประสบการณ์ และเยาวชนในโครงการเข้าร่วมงาน

นายวันชัย กล่าวต่อว่า กลุ่มคนตัว D ทำงานเกี่ยวกับเด็กและครอบครัวเรื่องสื่อเสียงสื่อวิทยุ จึงตั้งใจใช้สื่อเสียงสร้างการเปลี่ยนแปลงทำให้สังคมดีขึ้นโดยให้เยาวชนที่ร่วมโครงการดังกล่าว เรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์เรื่องสื่อเสียงและการใช้เสียง ทักษะการผลิตสื่อเสียงทดลองผลิตสื่อเสียง เมื่อจบกระบวนการเหล่านี้แล้วจึงได้จัด D-Voice Camp “รวมพลเยาวชนนักสื่อเสียงสุขภาวะ” ขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานเป็นทีมกับเครือข่าย สร้างความรู้จักกันมากขึ้น และขั้นตอนการเติมพลังเพื่อการเตรียมความพร้อมสู่เป้าหมาย

“ค่าย D-VOICE Camp จะเป็นการสรุป ถอดบทเรียนร่วมกัน สร้างจุดเปลี่ยนในสังคมรอบๆตัวเรา และกลุ่มคนตัว D จะสร้างความร่วมมือและสร้างจุดเปลี่ยนร่วมกัน เราต้องการให้เด็กรุ่นใหม่มาสร้างพลังของสื่อเสียง อาจจะทำเพื่อความสนุกบันเทิงแต่สาระเนื้อหาของสื่อสามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้เช่นกัน ทั้งด้านปัญหาของสังคม ปัญหาใกล้ๆ ตัว โดยเติมทักษะให้น้องๆ รู้ว่าจะใช้สื่อเสียงที่อยู่รอบตัวเรามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างไร” นายวันชัย กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. กล่าวถึงความสำคัญของสื่อเสียงในการช่วยสร้างสังคมสุขภาวะ” ว่า สุขภาวะไม่ได้มองแค่ว่าเราสุขภาพดีไม่เป็นโรค แต่รวมถึงเรื่องอื่นด้วยคือทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา เยาวชน คือความหวังใหม่ที่จะช่วยกันเผยแพร่เรื่องราวดีๆ การจะทำสื่อเสียงให้น่าสนใจต้องระบุกลุ่มเป้าหมายของสื่อ เราจะทำอะไรให้เขาดู อย่าปล่อยให้เป็นไปเรื่อยๆ เพราะจะไม่สามารถดึงใจคนดูได้ นอกจากนี้ยังต้องชัดเจนเรื่ององค์ความรู้ที่จะใช้สื่อเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้คนฟัง

“จากประสบการณ์ของการทำรายการของหมอครั้งแรก ก็เล่าเรื่องที่อยากเล่าเลย การเตรียมข้อมูลจะมีความเครียดมาก เพราะไม่รู้ว่าจะเอาข้อมูลมากขนาดไหน แต่โชคดีที่เป็นคนที่อ่านหนังสือตลอด จึงมีข้อมูลอยู่ในหัวทำให้คิดได้ว่า ถ้าทำอะไรที่ไม่ต้องเครียดจะทำให้เราทำงานไม่เครียด เพียงแค่เรามาเสริมทักษะเพิ่มเติมในการพัฒนาการทำรายการ การทำสื่อ หมอทำงานเพื่อสังคมมาตลอด เรามีสุขภาวะที่ดีในทุกด้าน ในการทำงานเพื่อสังคมต้องรักษาสมดุลในชีวิต ทั้งการดูแลบ้าน ครอบครัว สังคม เพื่อความสุขที่เราพอใจ ไม่อยากให้คิดว่าเราทำอาชีพอะไรแล้วต้องยึดติดอาชีพนั้นตลอดเพราะอีก 30 ปีมันอาจไม่มีแล้วก็ได้ สิ่งที่เราควรจะมีคือ ทักษะที่หลากหลาย ที่จะติดตัวเราไปตลอด” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ด้าน โสภิต หวังวิวัฒนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อเสียง ไทย พีบีเอส นักสื่อเสียงที่มีประสบการณ์กว่า20ปีแนะนำน้องๆ ถึงเทคนิคการทำสื่อเสียงว่า ต้องดูว่า เราจะผลิตสื่อเสียงให้กลุ่มเป้าหมายใดฟัง และที่สำคัญที่สุดในการทำรายการคือต้องรับผิดชอบคนฟังด้วยว่าจะได้ประโยชน์อะไร รายการจึงต้องมีทั้งความสนุกและสาระ

“ทุกคนที่ผ่านโครงการ D-Voice จะต้องเป็นมืออาชีพ เพราะรายการที่เราทำจะต้องเป็นเรื่องที่มีคนสนใจด้วยเห็นน้องๆ หลายคนสนใจเรื่องการทำ Podcast ซึ่งเป็นสื่อเสียงเหมือนวิทยุที่ใช้เสียงเล่าเรื่องแต่ต่างกันที่ Podcast เป็นเรื่องเฉพาะทาง เนื้อหาเจาะจงมากขึ้น ถ้าใครจะทำ Podcast ต้องจำไว้ว่าจะทำอย่างไรให้ดึงคนฟังมาตั้งใจฟังเราอย่างน้อย 50% ซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์มาใช้ให้เป็น การทำสื่อเสียงจะใช้ทุกเสียงในการสื่อเรื่องราวออกไป เพื่อให้สื่อเข้าถึงหัวใจคนฟังและคนเล่าได้มากที่สุด” โสภิตกล่าว

สำหรับบรรยากาศภายในค่าย D-VOICE เต็มไปด้วยความสนุกสนานทั้งกิจกรรมและความรู้ โดยเน้นการสร้างความสัมพันธ์ ความเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ และการสะท้อนการเรียนรู้ (ถอดบทเรียน) โดยพี่ๆ ผู้จัดรายการกลุ่มคนตัว D มาเล่าแรงบันดาลใจในการทำงานสื่อเสียง และใช้กิจกรรมดึงศักยภาพ ความสามารถ ความเป็นตัวเองของน้องๆ เยาวชนทั้ง 23 คนให้แสดงออกมาอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ สามารถติดตามเรื่องราวดีๆ ผ่านทางรายการวิทยุ D-Voice ทางคลื่นวิทยุ FM 105 MHz ทุกวันเสาร์ เวลา 8.00-9.00 น.และการจัด Podcast และนำเสนอผ่าน The Family Podcast โดยสามารถติดตามผลงานสื่อเสียงของน้องๆ ได้ทาง เพจคนไทยหัวใจฟู และ Youtube homeradio1