สศช. กับบทบาทขับเคลื่อนแผนฯ 12 ในประเด็นการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ

13

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560– 2565) ไปสู่การปฏิบัติ

โดยมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญคือติดตามความก้าวหน้าและประเมินการทำงานของกลไก ที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาสำคัญต่างๆ ในแผนพัฒนาฯ เพื่อเสนอแนวทางแก้ปัญหาหรือผลักดันกลไกให้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของแต่ละพื้นที่และเกิดประสิทธิผลอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้ในแผนฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยถึงแนวทางในการคัดเลือกประเด็นการพัฒนาสำคัญมาศึกษาวิเคราะห์และติดตามความก้าวหน้าและประเมินการทำงานของกลไกที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่ง สศช.กำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกประเด็นมาดำเนินการ ประกอบด้วย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์

1) เป็นประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญและมีผลกระทบสูงต่อความสำเร็จของยุทธศาสตร์ประเทศ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ หรือเป็นประเด็นที่จะช่วยวางรากฐานเชิงโครงสร้างของการพัฒนาระยะยาวให้มีความเข้มแข็งและเป็นแรงส่งให้การพัฒนาประเทศในภาพรวมก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

2) เป็นประเด็นที่มีลักษณะเชิงบูรณาการ (Cross Cutting Issues) ที่นำไปสู่การพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน และตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 มากกว่า 1 ยุทธศาสตร์ และไม่มีเจ้าภาพที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนหรือมีหลายหน่วยงานที่ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมาย และ

3) เป็นประเด็นที่ยึดโยงกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-Based) โดยเป็นประเด็นที่สนับสนุนนโยบายการพัฒนาในระดับพื้นที่ที่ช่วยยกระดับจุดแข็งหรือศักยภาพที่โดดเด่นของแต่ละพื้นที่ ให้มีความสามารถในการแข่งขันช่วยกระจายความเจริญและโอกาสทางเศรษฐกิจของคนในท้องถิ่น เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนและเอื้อต่อการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“ทั้งนี้ ในปี 2562 – 2563 การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) เป็นประเด็นที่ สศช. เลือกขึ้นมาทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อผลักดันการขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ เนื่องจาก1)ภาคเกษตรเป็นภาคเศรษฐกิจ
ที่สำคัญของไทย เป็นฐานที่เชื่อมโยงทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ สินค้าเกษตรเป็นสินค้าหลักที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ยังมีปัญหาในเรื่องผลิตภาพและการสร้างมูลค่าเพิ่ม

ซึ่งปัจจุบันโลกได้มีการพัฒนาแนวคิด เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างก้าวกระโดด ในภาคเกษตรกรรมก็เช่นกัน
ที่เน้นการเปลี่ยนแนวคิดจากทำมากได้น้อย ซึ่งเป็นการเน้นภาคการผลิต มาเป็นแนวคิดทำน้อยได้มาก ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก่อให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยิ่งไปกว่านั้นยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้ามากกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิมอย่างมาก ซึ่งการสนับสนุนการใช้เกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming ที่ประยุกต์การใช้เทคโนโลยีทั้งเครื่องจักร การบริหารจัดการข้อมูล และการต่อยอดผลผลิต จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับผลิตภาพและช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาคเกษตรไทยได้ และ2)เป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ในหลายยุทธศาสตร์ ทั้งยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม และยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมือง และพื้นที่เศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เกษตรอัจฉริยะยังเป็นประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีแผนแม่บทย่อยที่กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม Smart Farming ยังมีช่องว่างเกิดขึ้น ที่เห็นได้ชัด คือ มีหน่วยงานที่ส่งเสริมนโยบายนี้หลายหน่วยงาน แต่ยังไม่มีเจ้าภาพหลักที่ชัดเจน จึงควรเร่งติดตามค้นหาปัญหาหรือข้อจำกัดในการขับเคลื่อนและหาแนวทางแก้ไข เพื่อผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรให้มากที่สุด” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าว

ส่วนการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะจะมีทิศทางอย่างไร จะสร้างแต้มต่อให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างไรนั้น ต้องเกาะติดแนวทางการขับเคลื่อนของ สศช. ที่มีการเปิดเผยผลการศึกษาออกมา เพื่อที่จะเชื่อมโยงให้เกษตรกรไทยได้เห็นภาพใหญ่ และแนวทางที่จะยกระดับภาคการเกษตรไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างเข้มแข็ง

###