กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี แนะนำการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับโดยไม่รู้ตัว
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 รายงานว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 80,665 คน โรคมะเร็งตับถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 จากปัญหาโรคมะเร็งที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นของประเทศ โดยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับจำนวน 15,912 คน นับเป็นโรคที่พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) และมีการถ่ายทอดแผนการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งแห่งชาติลงสู่การปฏิบัติระดับพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ดังนั้นการดูแลตนเองของประชาชนในเรื่องการป้องกันการเกิดไวรัสตับอักเสบบี การตรวจเช็คสุขภาพ การได้รับวัคซีนป้องกัน และผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงการรักษาในระบบสาธารณสุข เป็นปัจจัยสำคัญที่ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งตับได้
นายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไวรัสตับอักเสบบีสามารถทำให้เกิดการอักเสบของตับแบบเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรังได้ ในปัจจุบันไวรัสตับอักเสบบีเป็นสาเหตุของโรคตับแข็งและมะเร็งตับที่สำคัญของโลก โดยข้อมูลในประเทศไทยพบว่ามะเร็งตับมากกว่าครึ่งเกี่ยวข้องกับไวรัสตับอักเสบบี โดยไวรัสชนิดนี้มีลักษณะเฉพาะ คือจะส่งสารพันธุกรรมเข้าไปในนิวเคลียสของเซลล์ตับทำให้ไวรัสยังอยู่ในร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อตลอดชีวิต แม้จะตรวจไม่พบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในเลือดก็ตาม ยาที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบบี คือ ยาต้านไวรัสแบบรับประทาน โดยมักต้องทานยาเป็นระยะเวลานานหรือตลอดชีวิตเพื่อควบคุมโรค ซึ่งยาต้านไวรัสในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงข้อมูลทางการวิจัยพบว่าตัวยาสามารถลดปริมาณไวรัส ยับยั้งตับอักเสบ ทำให้พังผืดในตับลดลง อาการตับแข็งดีขึ้น ตลอดจนลดโอกาสเกิดมะเร็งตับได้
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจเริ่มการรักษาไวรัสตับอักเสบบีขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคล ได้แก่ ปริมาณไวรัสในเลือด หลักฐานการอักเสบ และพังผืดในตับ ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีที่อายุมากกว่า 40-50 ปี หรือมีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับโดยการอัลตราซาวด์ทุก 6-12 เดือน สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ด้วยการหลีกเลี่ยงการเจาะ การสักผิวหนัง การใช้ของมีคมร่วมกับผู้อื่น การสัมผัสกับเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และฉีดวัคซีนป้องกัน ผู้ที่มีคนใกล้ชิดในครอบครัวเป็นไวรัสตับอักเสบบีหรือความเสี่ยงดังกล่าว ควรได้รับการตรวจเลือดหา HBsAg ว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ และตรวจ Anti-HBs เพื่อหาภูมิต้านทาน เนื่องจากผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ จึงควรได้รับการติดตามดูแลอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบเรื้อรังควรได้รับการรักษาและเข้าถึงระบบบริการสุขภาพตามมาตรฐาน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับ