คลื่นเทคโนโลยีลูกใหม่ (Digital Disruption) กำลังเปลี่ยนแปลงธุรกิจในภูมิภาคเอเชียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะในยุคหลังวิกฤตไวรัสโคโรนา ที่ทำให้กลุ่มธุรกิจเกิดความตื่นตัว เริ่มปรับตัวให้เป็นดิจิทัลมากขึ้นอย่างรวดเร็วตามกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ
แต่สิ่งที่ธุรกิจจำเป็นจะต้องให้ความสำคัญที่สุดในเวลานี้ คือการเร่งความรวดเร็วในการสร้างนวัตกรรม และเน้นความสามารถในการทำธุรกิจอย่างยืดหยุ่นท่ามกลางความไม่แน่นอน ผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น สมาร์ทโฟน โดรน รถไร้คนขับ รวมถึงการทำงานและประชุมจากระยะไกลด้วยโปรแกรมต่างๆ
1. เทรนด์ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อการขับเคลื่อนองค์กร
การใช้ AI จัดว่าเป็นหนึ่งในเทรนด์หลักที่ช่วยขับเคลื่อนกระแสนวัตกรรมดิจิทัลอื่นในกลุ่มธุรกิจเลยก็ว่าได้ เพราะในปัจจุบัน AI ได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเราเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้ AI ในการวินิจฉัยและรักษาไวรัสโคโรนา และเพื่อติดตามและต่อสู้กับการระบาดในครั้งนี้
ในปัจจุบัน ธุรกิจร้อยละ 50 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกใช้ AI ในธุรกิจโดยเน้นความสำคัญ 3 ด้านคือ ประสบการณ์ลูกค้า การตัดสินใจทางธุรกิจที่ว่องไวและมีผลสำเร็จมากกว่า รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการปฎิบัติงานให้มากขึ้น
2. เทรนด์แมชชีนเลิร์นนิง (Machine Learning) เพื่อเสริมกำลังธุรกิจดิจิทัล
การใช้ Machine Learning ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการวางแผนธุรกิจ เพราะเป็นอุปกรณ์ที่สามารถพลิกเกมการแข่งขันทางธุรกิจ SMEs ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เลยทีเดียว เราคาดว่าในอนาคตจะมีบริษัทสัญชาติเอเชียที่พัฒนา AI โซลูชั่นของตนเองและเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรให้เป็นดิจิทัลมากยิ่งขึ้น โดยบริษัทเหล่านี้จะเน้นการนำเสนอบริการที่ใช้ AI และผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น บริษัท เนทีฟยูเนียน (Native Union) ที่เน้นขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้สายระดับพรีเมี่ยมเป็นหลัก
3. เทรนด์ Robotic Process Automation (RPA) ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
Robotic Process Automation (RPA) หรือ กระบวนการทำงานอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์จัดเป็นหนึ่งในเทรนด์มาแรงที่โตขึ้นกว่าร้อยละ 100 ในตลาดซอฟต์แวร์ทั่วโลกในปี 2019 เพราะธุรกิจจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือใหญ่ต่างหันมาใช้ RPA อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า การนำ RPA มาใช้สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านการผลิตและช่วยเพิ่มปริมาณการผลิต และมีการนำมาใช้มากขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่พนักงานทุกคนต้องเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการสัมผัสตัวระหว่างทำงานอีกด้วย
นอกจากนี้หุ่นยนต์ยังถูกนำมาใช้เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลการติดเชื้อโรค COVID-19 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ช่วยให้สามารถเก็บข้อมูลและติดตามการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วโดยลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเชื้อ นอกจากนี้เฟดเอ็กซ์เองก็ใช้หุ่นยนต์ในการทำงานเช่นกัน โดยใช้เพื่อส่งข้อความเตือนการส่งพัสดุ ช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการส่ง ลดขั้นตอนและเวลาการทำงานของพนักงาน จากการเช็คระบบสามขั้นตอนซึ่งต้องใช้เวลา 3 ชั่วโมง ให้ลดลงมาเป็นการทำงานขั้นตอนเดียวที่ใช้เวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น การลดเวลานี้เองก็ช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
4. เทรนด์การวางระบบจักรกล (Automation) อย่างมีกลยุทธ์
การวางระบบ Automation อย่างมีกลยุทธ์ ทำได้โดยการปรับค่านิยมและความต้องการโดยรวมของธุรกิจให้เข้ากับระบบการทำงานอัตโนมัติ โดยเลี่ยงการมอบงานที่ซ้ำซากให้แก่พนักงาน เพื่อให้พวกเขาได้ทำงานที่มีคุณค่ามากกว่า
จากประสบการณ์ด้านการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้เราได้รู้ว่าค่านิยมหลักขององค์กรด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ความถูกต้องแม่นยำ ความสม่ำเสมอ ความน่าเชื่อถือ ความสามารถในการปรับขนาดบริการ ความพึงพอใจในงาน การประหยัดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ล้วนเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจว่าจะใช้จักรกลมาทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไรทั้งสิ้น
5. เพิ่มความเชื่อมต่อด้วยเครือข่ายที่ฉลาดยิ่งกว่า
แม้ว่าเราจะไม่สามารถมองเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ด้วยตาเปล่า แต่พวกมันคือตัวมอบข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์ เพื่อช่วยให้เราสามารถเคลื่อนย้ายสินค้าที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนในการส่งได้อย่างรวดเร็ว ทีมเฟดเอ็กซ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเราล้วนใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อช่วยให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กสามารถโต้ตอบกับลูกค้าและส่งสินค้าจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว ช่วยยกระดับความพึงพอใจและความคาดหวังจากผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน
6. เพิ่มความเร็วการส่งและความคล่องตัวเพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่า
อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรง ก็คือการยกระดับประสบการณ์ของผู้บริโภค โดยเพิ่มความเร็วและความคล่องตัวในการสั่งงานและการประชุมออนไลน์จากระยะไกลตามยุค New Normal ซึ่งในปัจจุบันร้านค้าปลีกออนไลน์ได้เริ่มใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสบการณ์ช้อปปิ้งในร้านค้าที่ดีกว่า ผ่านการแนะนำสินค้าให้แก่ลูกค้าได้แบบเรียลไทม์
ยิ่งไปกว่านั้น บริษัท การ์ทเนอร์ (Gartner) ยังได้คาดการณ์เอาไว้ ว่าการลงทุนด้าน AI เพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีข้างหน้า โดยภายในปี 2021 นี้ ร้อยละ 15 ของการโต้ตอบและให้บริการลูกค้าทั่วโลกจะถูกทดแทนด้วย AI ทั้งหมด ซึ่งจำนวนนี้จัดว่าเพิ่มขึ้นมาจากปี 2017 ถึงร้อยละ 400
7. เทคโนโลยีอัจฉริยะจะช่วยเร่งธุรกิจ B2B ระหว่างประเทศ
เทคโนโลยีอัจฉริยะจะสามารถเข้ามาเร่งการเติบโตของธุรกิจ B2B ระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงที่สุดในขณะนี้ โดยในปี 2019 ตลาดธุรกิจ B2B e-commerce โลกมีมูลค่าสูงถึง 12.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าตลาด B2C ถึง 6 เท่า โดยร้อยละ 80 ของตลาดมีพลังขับเคลื่อนมาจากธุรกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเอเชียแปซิฟิกจะยังคงเป็นพลังขับเคลื่อนเทรนด์หลักของ B2B ต่อไป ด้วยบริการเสริมที่มากกว่าและประสบการณ์ของลูกค้าที่ถูกออกมาให้เข้ากับพวกเขามากยิ่งขึ้น
บริษัทแมคคินซีย์ ได้อธิบายว่าเทคโนโลยีอัจฉริยะของอุตสาหกรรมโลจิสติกช่วยลดเวลาขนส่งและจัดการภาษีศุลกากรได้มากถึงร้อยละ 28 และยังช่วยกำจัดปัญหาที่ชะลอการขนสินค้าในวันนี้ออกไป ซึ่งเมื่อนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้งานร่วมกัน จะสามารถกระตุ้นการค้าได้มากถึงร้อยละ 6 – 11 ภายในปี 2030