นักวิจัย มข. พัฒนาต่อยอดสำเร็จ “แผ่นรังไหมรับแรง” M16 ทะลวงไม่ทะลุ

6

มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานแถลงข่าว มข.พบสื่อมวลชน เรื่อง “งานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16” ซึ่งเป็นการวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเดิมที่สามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ พัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. กระสุนปืน M16 อาวุธที่ใช้ทางทหารได้สำเร็จ โดยมี รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกล่าวเปิดการแถลงข่าว และ ผศ.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย นักวิจัย ร่วมกันแถลงข่าว ณ ห้องรับรองพิเศษ ศาลาช่อกาลพฤกษ์ สํานักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย ผศ.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย ได้ทำการพัฒนาต่อยอดงานวิจัยจากเดิมที่วิจัยเรื่องแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น อาทิ กระสุนขนาด 9 มิลลิเมตร 11 มิลลิเมตร ที่ประสบความสําเร็จไปแล้ว ขณะนี้ได้ก้าวไปอีกขั้น โดยสามารถผลิตแผ่นรังไหมให้สามารถรับกระสุนปืนที่แรงและมีขนาดใหญ่ขึ้นได้สําเร็จ พร้อมทั้งได้จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาเรียบร้อยแล้ว

“จุดเด่นของงานวิจัยนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไป พบว่ามีน้ำหนักเบากว่า 2-3 เท่า และอีกคุณสมบัติเด่น คือ การหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากแผ่นโลหะทําให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้ที่อยู่ข้างเคียงเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ คณะนักวิจัย ยังได้พัฒนาแผ่นรังไหมรับแรงออกมาหลายรุ่นที่รับแรงกระสุนปืนขนาดต่าง ๆ และน้ำหนักเบาขึ้นในแต่ละรุ่น เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้ารับการปรึกษากับนักวิจัยได้” รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล กล่าวในที่สุด

ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. เผยว่า ผลงานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเดิมที่สามารถป้องกันกระสุนปืนสั้นได้ทุกชนิด ขณะนี้ได้ทำการพัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร กระสุนปืน M16 อาวุธที่ใช้ทางทหารได้สำเร็จ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานขั้นกว่าสำหรับกลุ่มอาวุธสงคราม โดยมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม และรุ่นน้ำหนักประมาณ 1.6 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุนทั่วไปในปัจจุบัน 2-3 เท่า

ผศ.ดร.พนมกร กล่าวด้วยว่า สำหรับด้านกระบวนการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. นั้น “มีกระบวนผลิตแตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทานแรงกระแทกได้ดี แต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษเพื่อให้วัสดุต่าง ๆ ยึดเกาะกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. หรือกระสุนปืน M16 ได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น แม้ว่าจะนำมาซ้อนกันถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. ก็สามารถทะลุได้ ต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงงานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งคิดค้นสำเร็จนี้ โดยได้จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว

อาจารย์ สุธา ลอยเดือนฉาย กล่าวเพิ่มเติมว่า “คุณสมบัติเด่นของแผ่นรังไหมรับแรง คือ การหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ และหากเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ดีกว่าเกราะอ่อนกันกระสุนที่ทำจากเคฟลาร์ พบว่าแผ่นรังไหมรับแรงมีราคาถูกกว่า และยังสามารถป้องกันอาวุธมีคม อาทิ มีด ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้ แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้ ตอนนี้แผ่นรังไหมรับแรงมี 2 แบบ คือ แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 0.9 กิโลกรัม น้ำหนัก 0.75 และน้ำหนัก 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 2 กิโลกรัม และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อาทิ ทหาร ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายเดน หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงชายแดนภาคใต้

ในการแถลงข่าวครั้งนี้ ได้แสดงผลการทดสอบยิงแผ่นรังไหมรับแรงในสนามยิงปืน ด้วยอาวุธปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร สำหรับแผ่นรังไหมรับแรง รุ่นน้ำหนัก 2 กิโลกรัม และ 1.6 กิโลกรัม พบว่าแผ่นเกราะรังไหม นน. 2 กก. ด้านหน้ากระสุนฝังใน แต่ไม่ทะลุแผ่นซับแรง และด้านหลังบวมออกมาเล็กน้อย ส่วนขนาดน้ำหนัก 1.6 กิโลกรัม ด้านหน้ากระสุนฝัง แผ่นซับแรงด้านหลังบวมแตกแต่กระสุนไม่ทะลุออกมา ถือว่าเป็นผลการทดลองที่ปลอดภัยน่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง

เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ไม่ได้อยู่บนหิ้งอีกต่อไป ที่นักวิจัยได้คิดค้นวิจัยสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติ ผู้สนใจ สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร. พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย โทร. 089 840 6586