บริหาร “น้ำจากฟ้า” ความฝันสูงสุดของ “ครูกัลยา” โสภณพนิช

175

ในวัยที่เฉียด 80 ปีเข้าไปทุกที ดูเหมือนจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะพิชิตฝันบริหาร “น้ำจากฟ้า” ตามศาสตร์พระราชาให้สำเร็จ โครงการดีๆที่ไม่เพียงจะแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้กับชาวไทยในพื้นที่ชนบท แต่ยังจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรรมให้กับพวกเขา ทั้งยังสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว มีรายได้เพิ่มมากขึ้นและท้ายสุดสามารถหลุดพ้นจากความยากจน

“ในชีวิตนี้ จะต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ เวลาตายจะได้นอนตาหลับ” ดร.คุณหญิงกัลยา ประกาศกร้าว ด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น ณ ห้องประชุมดอนแดง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อเร็วๆนี้

ความฝันสูงสุดของดร.คุณหญิงกัลยาที่ว่าคือ โครงการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ

หลายคนแอบสงสัยอยู่ในใจว่า เหตุผลใดที่คุณหญิงจะต้องลุกขึ้นมาทำโครงการนี้ ทั้งที่ประเทศเราก็มีหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างกรมชลประทาน หรือหน่วยงานของรัฐบาลอื่นๆ ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับกระทรวงศึกษาธิการที่คุณหญิงดูแล และคุณหญิงเองก็ให้ความกระจ่างกับพวกเราว่า เป็นเพราะพื้นที่ชลประทานนั้นครอบคลุมเพียง 8% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศและปัญหาของน้ำก็มีมากขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านและทำลายพืชผลของเกษตรกร

ที่สำคัญที่สุดคือ ในชีวิตของคุณหญิงได้ซึมซับแนวทาง “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรน้ำขณะครองราชย์ พระองค์ทรงงานหนัก คิดค้น ทำวิจัย และนำการแก้ปัญหาน้ำด้วยวิธี “ธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติ” ซึ่งคุณหญิงมองว่า แนวทางนี้มีประโยชน์กับประเทศอย่างมาก ดังนั้น จึงตั้งใจเดินตามรอยเบื้องพระยุคคลบาท นำแนวทางของพระองค์ไปปฏิบัติให้ก่อเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมกับประเทศโดยรวม

พวกเราชาว The Balance ได้รับเกียรติจากทีมงานของ ดร.คุณหญิงกัลยา ติดตามคุณหญิงลงพื้นที่ ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในวันนั้น คุณหญิงสวมเสื้อยืดสีเหลืองด้วยโลโก้ชื่อโครงการ สวมสูททับ ใส่กางเกงยีนสีน้ำเงิน ใส่หมวกปีกกว้าง ดูทะมัดทะแมง ทำงานท่ามกลางแดดจ้า แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แต่คุณหญิงก็ยังเดินหน้าลุยทั่ววิทยาลัยเกษตรและชุมชนใกล้เคียงอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย ถามโน่นถามนี่กับเจ้าหน้าที่ พูดคุยกับชาวบ้าน เก็บข้อมูลอย่างละเอียดจนจบภารกิจหนึ่งวันเต็มๆในวันนั้น

ดร.คุณหญิงกัลยา เป็นคนอีสาน เป็นชาวโคราช ตอนเป็นเด็กเคยเป็นยุวเกษตรกร จึงซึมซับวิถีชีวิตเกษตรกรในพื้นที่แถบนี้เป็นอย่างดี คุณหญิงเล่าว่า น้ำฝนตกลงมาใน 20 จังหวัดในภาคอีสานมีถึง 243,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง แต่ความสามารถในการจัดเก็บน้ำฝน เก็บได้เพียง 3.5% คิดง่ายๆคือว่า ฝนตกมา 100 หยด ภาคอีสานเก็บได้ 3.5 หยด หากเปรียบเทียบกับทั้งประเทศ สถิติที่บอกไว้คือ เก็บได้ 5.5 หยด

คุณหญิงเองรู้สึกเสียดายกับน้ำจากฟ้าที่ไม่ได้จัดเก็บเหล่านั้น ทั้งที่น้ำฝนเป็น “ของฟรี” และปริมาณน้ำมหาศาลนี้สามารถสร้างคุณประโยชน์กับคนในพื้นที่ได้มากเหลือเกิน ด้วยเหตุนี้ การไม่มีการจัดการน้ำอย่างถูกต้องและจริงจัง ทำให้ปริมาณน้ำเหล่านั้นกลับมาสร้างความเสียหายให้กับชาวบ้าน ไม่ว่าจะก่อให้เกิดน้ำท่วมหรือเกิดน้ำล้นกัดเซาะแนวตลิ่งแม่น้ำ ทำลายพื้นที่ทางการเกษตรจนได้รับความเสียหาย ในขณะที่หน้าแล้ง ชาวบ้านก็ไม่มีน้ำกินน้ำใช้ การทำการเกษตรก็ไม่ได้ผล

คุณหญิงยกตัวอย่างศาสตร์พระราชาให้พวกเราได้ให้เห็นภาพมากขึ้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีแนวทางการจัดการน้ำคือ พระองค์ทรงทำ “ถนนน้ำเดิน” ในหมู่บ้าน เป็นเสมือนรางน้ำ เป็นการขุดร่องน้ำไว้ รอน้ำล้นในช่วงหน้าน้ำ เพื่อบริหารจัดการ ให้น้ำไหลไปทุ่ง ไปบ่อ ไปนาของใครก็ได้ เป็นการรองรับน้ำที่ล้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีการจัดเก็บน้ำไว้ใช้ในเวลาเดียวกัน โดยพระองค์ท่านให้ทำอย่าง “ประหยัด” และเน้น “การมีส่วนร่วมของชุมชน” โดยหลักการง่ายๆของการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริคือ มีที่ให้น้ำอยู่ มีที่ให้น้ำไหล และมีการจัดเก็บ

“ถ้าเราตามรอยพระราชดำริได้ ผู้คนก็จะไม่จน น้ำก็จะไม่ท่วม แล้งก็จะไม่แล้ง สรุปแล้ว การบริหารการจัดการ เพื่อเป็นแก้จนให้กับคนไทย” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าว

จัดการน้ำ สร้างชุมชนยั่งยืน
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จะเป็นโครงการต้นแบบการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชนแนวพระราชดำริ ในสถานศึกษาและชุมชนโดยรอบ โดยหาที่ให้น้ำอยู่ หาที่ให้น้ำไหล พร้อมเปิดการอบรมหลักสูตรชลกร การบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริและการเก็บกักน้ำไว้ใต้ดิน ระบบเปิด-ระบบปิด โดยระบบเปิดเป็นการมุ่งเพื่อการเกษตรกรรม ขณะที่ระบบปิดก็กักเก็บน้ำเพื่อช่วยชาวบ้านในยามขาดแคลน โดยแนวทางนี้จะเป็นแนวทางให้กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอื่นๆอีก 46 แห่งทั่วประเทศได้นำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ตนเอง

ทั้งนี้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เปิดสอนด้านเกษตรกรรมมีปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูร้อน การที่วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 5 แห่ง ซึ่งได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ศรีสะเกษและวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดทำธนาคารน้ำใต้ดิน และบุคลากรได้รับความรู้จากโครงการอบรมการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จากกองทุนบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถบริหารจัดการน้ำได้ด้วยตนเอง รวมทั้งนำความรู้ไปขยายผลสู่ชุมชน เพื่อช่วยให้ชุมชนมีน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตรกรรมตลอดทั้งปี ทั้งนี้ คุณหญิงมองว่า วิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน เป็นผู้นำความคิด และมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาในพื้นที่ได้โดยร่วมมือกับคนในชุมชน โดยการดำเนินงานประกอบไปด้วย 8 กิจกรรมคือ

1. ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ขนาด 1x1x1 จำนวน 1,500 บ่อ
2. ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ขนาด 2x2x2 เมตร จำนวน 100 บ่อ
3. ขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดด้วยวิธีการเจาะ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร ลึก 3 เมตร จำนวน 300 บ่อ
4. ขุดบ่อน้ำระบบเปิด (ขุดบ่อใหม่) จำนวน 2 บ่อ
5. แก้ไขบ่อน้ำเก่าให้เป็นบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน จำนวน 7 บ่อ
6. ขุดลอกบ่อเก่า จำนวน 14 บ่อ
7. ขุดบ่อมหัศจรรย์ทูอินวัน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 เมตร ลึก 12 เมตร จำนวน 13 บ่อ
8. ห้องปฏิบัติการบริหารจัดการน้ำโดยชุมชน ตามแนวพระราชดำริ

โครงการนี้มีจุดเด่นที่สำคัญคือ ได้สร้าง “ชลกร” ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ หน้าที่ของพวกเขาคือ ช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการจัดการน้ำในชุมชนให้ชาวบ้าน สร้างประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อชีวิตให้พอเพียง โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม คาดว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ได้ยั่งยืนต่อไป

ก้าวปีที่ 2 รมช.ลุยงาน ยกระดับการศึกษา
เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ปัจจุบันดร.คุณหญิงกัลยา จากพรรคประชาธิปัตย์ ทำงานในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการก้าวขึ้นปีที่ 2 แล้ว อยู่รอดปลอดภัยจากการปรับคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ใน 1 ปีที่ผ่านมา คุณหญิงได้สร้างผลงานไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะการวางนโยบาย เน้นการปฏิรูปไปที่ตัวผู้เรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางรากฐานการศึกษาไทยสู่ที่ 21 ภายใต้นโยบายหลัก 4 เรื่องคือ โค้ดดิ้ง (coding) การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การอ่านเขียนเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัยและอาชีวะเกษตร ถือเป็นการสร้างพื้นฐานให้กับผู้เรียนและพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในปัจจุบัน รวมไปถึงยังได้ริเริ่มแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาด้วย “STI” (Science-Technology-Innovation) – วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องตามพลวัตของโลก

ก้าวขึ้นปีที่ 2 คุณหญิงได้ให้คำมั่นจะทำงานหนักมากขึ้น เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยให้ก้าวหน้าต่อไปอีก เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ภายใต้แนวคิดที่ว่า ทันสมัย-เท่าเทียม-ยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ทั้งด้านการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความมีเหตุผลและการสร้างสรรค์นวัตกรรม ให้กับครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยตามความเหมาะสม ทั้งเด็กปกติ เด็กพิการและด้อยโอกาส ร่วมถึงกลุ่มเด็กพิเศษ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ทว่า ความมุ่งมั่นของคุณหญิง ณ ปัจจุบัน ได้เผชิญหน้ากับความท้าทายกับปรากฏการณ์ทางสังคมในเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะการออกมาต่อต้านกระทรวงศึกษาธิการของกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ ที่พวกเด็กๆมองว่า กระทรวงศึกษาธิการปรับตัวไม่ทันและไม่สามารถตอบโจทย์การศึกษาให้สอดคล้องในยุค disruption ได้ทันท่วงที ทั้งยังมีกฎระเบียบยุบยิบอีกมากมายที่บังคับใช้ ซึ่งพวกเขาตั้งคำถามว่า กฎเกณฑ์บางอย่างมีไปเพื่ออะไร?

ในงานเปิดตัวหนังสือ “ใกล้ชิด เกาะติด พัฒนาการศึกษาไทย ทันโลกในศตวรรษที่ 21” ของดร.คุณหญิงกัลยา เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ในโอกาสที่คุณหญิงทำงานเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ครบ 1 ปี พวกเราก็อดถามไม่ได้ถึงความท้าทายที่กำลังเผชิญนี้ และดร.คุณหญิงกัลยาตอบว่า แม้จะมีอายุมาก แต่ก็ยังมีลูกหลานที่เป็นคนรุ่นใหม่ ซึ่งคุณหญิงก็เรียนรู้จากเด็กๆเช่นกัน ในฐานะที่ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ก็จะพยายามสร้างบรรยากาศในการเรียนให้กับเด็กๆ ดึงดูดเด็กๆให้เข้าเรียนด้วยสิ่งที่เขาสนใจ เน้นให้ครูเป็นผู้แนะนำและให้สิ่งที่ google ให้ไม่ได้ ทำให้เขาอยากเรียน เด็กมาเรียนต้องมีความสุข ครูต้องมีศักดิ์ศรีและสังคมต้องมีส่วนร่วม โดยรวมครูต้องสนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้

“เด็กสมัยนี้ เก่งกว่าเราเยอะ สังคมให้โอกาส เด็กทำอะไรด้วยตัวเอง อย่าง Walmart ร้านค้าปลีกใหญ่ของสหรัฐฯ จ้างเด็กอายุไม่เกิน 10 ขวบ รีวิวสินค้าแล้ว” คุณหญิงกล่าว

ขณะที่กฎข้อบังคับก็มีเพื่อสร้างความเรียบร้อย อย่างการใส่ชุดนักเรียน ถ้าใส่อย่างอื่นไม่น่ามีปัญหา ที่สำคัญคือ ต้องพูดให้เข้าใจและสังคมต้องมีส่วนร่วม ทั้งนี้ พ่อแม่ก็ต้องมีส่วนร่วมกับการศึกษาของโลก ต้องทันโลก disruption ที่คาดการณ์ไม่ได้ สังคมช่วยกันจะได้ไม่มีปัญหา คุณหญิงบอกว่า กฎระเบียบต่างๆบางครั้งอาจต้องใช้เวลาในการแก้ไข เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วข้ามคืน

เมื่อให้คุณหญิงประเมินผลงานของตัวเองใน 1 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง? คุณหญิงตอบเราพวกเราว่า “ตอบไม่ได้” รู้แต่เพียงว่า “ทำด้วยใจเต็มร้อย ทำด้วยใจ ไม่ใช่โดยหน้าที่” และงานที่ลุล่วงทุกวันนี้ก็เพราะ “กัลยามิตร” และ “มิตรของกัลยา” และเมื่อถามว่า ทุกวันนี้หน้าที่หลักคือ ทำงานสร้างคน แล้วในยามที่ตัวเองเหนื่อยละ มีการสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองอย่างไร?

“เริ่มที่ “ใจ”ก่อน ถ้าเราทำงานนี้ด้วยใจ เราไม่ได้ถูกบังคับด้วยเงินเดือน ด้วยตำแหน่ง ทำด้วยใจ เราทำเต็มร้อย เราไม่ผิดหวัง…คติคือ เราไม่ผิดหวังเพราะเราไม่เคยคาดหวังเกินความสามารถและเงื่อนไข ฉะนั้นไม่ทุกข์ร้อนอะไรมากมาย ทำเต็มที่ คิดว่าสิ่งนี้ดีเพื่อสังคม มีปัญหาไหม ถ้ามี เราสู้ ยืดหลักให้มั่น เหนื่อยกายพักก็หาย แต่เหนื่อยใจ มันจะยืดเยื้อ ถ้าเราทำใจได้อย่างนี้ เราจะไม่มีวันเหนื่อยใจ ทำเต็มที่บนเงื่อนไข มีเงินเท่านี้ มีคนเท่านี้ เวลาแค่นี้ ทำเต็มที่ ได้แค่ไหน ได้แค่นั้น” ดร.คุณหญิงกัลยา กล่าวทิ้งท้าย