เตือนอุจจาระจากเชื้อไวรัสโรตา เด็กต่ำกว่า 5 ขวบต้องระวัง

40
Background image created by Mrsiraphol - Freepik.com

อุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา อาจจะเป็นโรคที่ไม่คุ้นชิ้นกันมากนัก แต่เป็นหนึ่งที่โรคที่ถูกประกาศให้เฝ้าระวังในช่วงหน้าหนาว ซึ่งการติดต่อก็มาจากสิ่งใกล้ตัว อย่างการจับต้องสิ่งของและการกินอาหาร

ล่าสุดกรมควบคุมโรค ได้ออกเตือนผู้ปกครองดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด เพราะอาจป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วง 3 ใน 4 ราย เป็นเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรตา ที่สำคัญในกลุ่มนี้จะมีการติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง หมั่นสังเกตอาการ รับประทานอาหารที่ปรุง “สุก ร้อน สะอาด” และหมั่นล้างมือบ่อยๆ

นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีและโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาว ความเสี่ยงของการที่ประชาชนจะป่วยด้วยโรคติดต่อก็อาจเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเดินหายใจ  อันเป็นโรคติดต่อที่ทำให้ประชาชนป่วยเป็นจำนวนมาก เช่น โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม เป็นต้น นอกจากนี้ โรคติดต่อทางอาหารและน้ำที่ต้องระวังเป็นพิเศษในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี คือ โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรตา

โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรตา พบมากในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสถานที่ที่พบมาก คือ                 สถานสงเคราะห์เด็ก โรงพยาบาล นอกจากนี้ อาจพบการติดเชื้อได้ในผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครอง และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงตลอดปี 2560 จำนวน 985,544 ราย เสียชีวิต 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นการป่วยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 226,909 ราย คิดเป็นร้อยละ 23 ของผู้ป่วยทั้งหมด และเสียชีวิต 3 ราย ซึ่งจากการสำรวจของกรมควบคุมโรค เมื่อ ปี 2544-2546 พบว่า การป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสโรตา ประมาณร้อยละ 43 และจะมีเด็กป่วยเป็นโรคอุจจาระร่วงที่เข้ารับการรักษาในคลินิก ประมาณ 131,000 รายต่อปี และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 56,000 รายต่อปี

นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคอุจจาระร่วงจากเชื้อไวรัสโรตา เกิดจากการรับเชื้อเข้าทางปาก    จากการปนเปื้อนของเชื้อในน้ำดื่มและน้ำใช้ หรือการสัมผัสกับเครื่องใช้หรือของเล่นต่างๆ ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโรต้า โดยมักจะมีอาการภายใน 2-10 วันหลังการรับเชื้อเข้าไป อาการของโรคคือ มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว 3 ครั้ง/วัน หรือมากกว่า มีไข้สูงและอาเจียน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีอาการขาดน้ำ หากรับการรักษาไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อาจเกิดภาวะช็อกและอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลยังพบอีกว่า ก่อนอายุ 5 ปีเด็กทุกคนจะมีการติดเชื้อซ้ำได้หลายครั้ง

การป้องกันโรคอุจจาระร่วงสามารถทำได้ดังนี้ 1. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือเจลล้างมือทั้งก่อนปรุงประกอบอาหาร และภายหลังการใช้ห้องน้ำ 2. กำจัดขยะมูลฝอย เศษอาหารเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์แมลงวัน และ 3. รับประทานอาหารที่ปรุง “สุก ร้อน สะอาด” ไม่รับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากต้องการจะเก็บรักษาอาหารที่ปรุงสุกแล้วไว้รับประทานในวันต่อไป     ควรใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนรับประทานทุกครั้ง และการเก็บรักษาที่ปรุงสุกแล้ว ควรแยกจากอาหารหรือวัตถุดิบที่ยังไม่ปรุง เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อน ทั้งนี้ ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากเริ่มมีความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422