เปลี่ยนวิถีการลงทุน หนุนเศรษฐกิจแนวคิดใหม่ หยุดวงจรโลกร้อนอย่างยั่งยืน อัล กอร์ ร่วมส่งแรงบันดาลใจ กระตุ้นสังคมไทยรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ในงานสัมมนาโดย KBank Private Banking
อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2550
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change ไม่ได้ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายมหาศาลแก่เศรษฐกิจโลก โดยอาจมีต้นทุนที่คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันถึง 550 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ* หรือเทียบเท่าขนาดของเศรษฐกิจโลกโดยรวมในปี 2562 มากกว่า 6 เท่า ในกรณีที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยังถูกปล่อยออกมาในอัตราเดิมไปจนถึงสิ้นศตวรรษนี้ วิกฤตโลกร้อนจึงถือเป็นหนึ่งในประเด็นด้านความยั่งยืนที่เร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน และเป็นสิ่งที่ผู้นำธุรกิจไม่สามารถละเลยได้อีกต่อไป
KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) และพันธมิตร Lombard Odier (ลอมบาร์ด โอเดียร์) ได้จัดงานสัมมนาเพื่อความยั่งยืนในหัวข้อ Sustainability Revolution: A Call for Action ขึ้น โดยได้ผู้นำระดับโลกอย่าง อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นาย อัล กอร์ และผู้บริหารระดับสูงจากสถาบันการเงินทั้งสองแห่งมาร่วมแบ่งปันแนวคิดแก่ผู้นำธุรกิจและนักลงทุนไทย นอกจากนี้ นาย อเล็กซ์ เรนเดล ยังเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในการพูดคุยกับ นาย อัล กอร์ ด้วย
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “ด้วยบทบาทของธนาคารแห่งความยั่งยืน เราตั้งคำถามเสมอว่าเราในฐานะประชาชนคนหนึ่ง นักธุรกิจ และนักลงทุน จะสามารถทำอะไรเพื่อช่วยแก้ไขวิกฤตโลกร้อนได้บ้าง งานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในความพยายามของเราในการขับเคลื่อนการปฏิวัติเพื่อความยั่งยืนด้วยการสร้างความตระหนักรู้และนำเสนอแนวปฏิบัติที่ประสบผลสำเร็จแล้วในระดบสากลแก่ภาคธุรกิจของไทย”
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทยนาย อัล กอร์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2550 เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศว่า อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนส่งผลให้พายุมีความรุนแรงขึ้น ฝนตกหนักขึ้น และเกิดภัยแล้งบ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ โดยประเทศไทยเองก็กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศ เราต้องหันมาใช้แหล่งพลังงานที่สะอาด มุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาคการผลิต และปฏิวัติภาคเกษตรกรรม แต่ข่าวดีก็คือเรามีโซลูชันในการแก้ไขปัญหาอยู่ในมือเราแล้ว สิ่งที่เราต้องการก็คือ ความมุ่งมั่นตั้งใจที่แก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง
“โลกกำลังอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เรียกว่า ‘การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Revolution)’ และผู้นำธุรกิจรวมถึงนักลงทุนมีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนนี้ เพราะนักลงทุนจำนวนไม่น้อยมีความกังวลเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และคนกลุ่มนี้เองก็คิดว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ควรลดการลงทุนในบริษัทที่มีส่วนก่อให้เกิดปัญหาด้วยการขุดเจาะน้ำมันและเผาผลาญเชื้อเพลิงสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนที่ถูกลงและศักยภาพที่สูงขึ้นทุกปี ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานแสงอาทิตย์ แน่นอนว่านโยบายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ แต่ภาคธุรกิจและภาคการลงทุนสามารถแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริง”
ฮูเบิร์ต เคลเลอร์ Managing Partner ของ Lombard Odier กล่าวว่า เป้าหมายร่วมของโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนผ่านสู่โลกที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero emission) ไม่เพียงแต่ช่วยลดการเกิดภัยพิบัติเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนอีกด้วย
“การเปลี่ยนผ่านนี้ต้องการเม็ดเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาล คิดเป็นประมาณร้อยละ 7 – 10 ของจีดีพีโลก โดยธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงคือกลุ่มบริษัทที่สามารถนำเสนอโซลูชันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้ชีวิตในโลกที่ ‘ร้อนขึ้น’ นอกจากนี้ บริษัทที่ลงทุนในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนเองยังมีแนวโน้มที่จะมีส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น และมีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เราเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มต้นขึ้นแล้วและจะเข้ามาพลิกโฉมภูมิทัศน์ด้านการลงทุนไปอย่างสิ้นเชิง”
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย ได้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นในการเป็นที่ปรึกษาแก่ลูกค้าในการปฏิวัติสู่ความยั่งยืนว่า “ในขณะที่โลกกำลังมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่า สะอาด และทุกคนเข้าถึงได้ (CLIC – Circular Lean Inclusive Clean economy) นักลงทุนต้องหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ปรับตัวเข้ากับระบบเศรษฐกิจใหม่ได้ และไม่สนับสนุนธุรกิจที่ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว ซึ่งจะถูกจำกัดการดำเนินธุรกิจและสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เราต้องผนวกความยั่งยืนไว้ในกลยุทธ์และเป้าหมายหลักของการลงทุน ไม่ใช่เพียงเพราะว่านี่จะเป็นแหล่งสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงเท่านั้น แต่เงินของนักลงทุนจะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างระบบเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งร่องรายความเสียหายไว้แก่โลกอีกด้วย”
อีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคงหนีไม่พ้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ นายอเล็กซ์ เรนเดล ทูตสันถวไมตรีแห่งชาติคนแรกของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ในประเทศไทย ได้ถาม นาย อัล กอร์ ถึงบทบาทของคนกลุ่มนี้ และเขาได้ฝากข้อความแห่งแรงบันดาลใจไว้ว่า “เรามักจะเห็นคนรุ่นใหม่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ครั้งนี้ก็ไม่ต่างกัน ต้องขอบคุณพวกคุณทุกคนที่บอกกับสังคมว่า โลกของเราควรมีอนาคตที่สดใส และมีความหวังมากกว่านี้ แต่ที่สำคัญก็คือ พวกเราต้องเดินหน้าต่อ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่เราจะต้องทำเพื่อโลกต่อไป” อัล กอร์ กล่าวทิ้งท้าย