“หอการค้าไทย-จีน” หวั่นการเมืองกระทบลงทุนแนะรัฐขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ

23

หอการค้าไทย-จีน เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น ไตรมาส 4/2563 มองว่าเศรษฐกิจจีนทั้งการค้าและการลงทุนจะดีขึ้น ซึ่งจะสะท้อนให้การส่งออกระหว่างไทยจีนปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้มีโอกาสทรงตัวและดีขึ้นมากกว่าถดถอย ผลสำรวจตอกย้ำความกังวลสถานการณ์การเมือง มีผลต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุน หนุนรัฐเร่งแก้ไขปากท้องชาวบ้านเร่งด่วน และผ่อนคลายการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติภายในไตรมาส 4 ปีนี้เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยถึง ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ที่ได้จากการสำรวจความเห็นจาก คณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร สมาชิกหอการค้า และ ผู้นำของสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ ในช่วงกลางไตรมาส 3 ของปี 2563 เพื่อประเมินผลทางเศรษฐกิจไตรมาส 4 พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าเศรษฐกิจจีนทั้งการค้าและการลงทุนไตรมาส 4 ปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2563 ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกระหว่างไทยกับจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยและทิศทางตลาดหุ้นไตรมาสสุดท้ายปีนี้มีโอกาสทรงตัวและปรับตัวดีขึ้นมากกว่าโอกาสที่จะถดถอย โดยแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนคาดว่าจะเคลื่อนไหวระหว่าง 30.85-31.35 บาทต่อเหรียญสหรัฐอเมริกา

“รอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.63) การส่งออกไทยไปตลาดจีนขยายตัว 4.5% หรือเป็นสัดส่วน 12.8% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย จึงมีส่วนที่จะเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนการส่งออกไทยได้ระดับหนึ่งและเมื่อเศรษฐกิจจีนมีทิศทางดีขึ้นก็ย่อมส่งผลต่อการค้าและส่งออกของไทยกับจีนจะเติบโตเช่นกัน แต่ในมุมมองเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ยอมรับว่าผลสำรวจไม่มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะดีขึ้นหากแต่โอกาสที่จะลดลงมีไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับโอกาสที่จะทรงตัวและดีขึ้นรวมกัน” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 2 ปีนี้จะหดตัว 12.2% แต่ก็เริ่มมีสัญญาณบวกจาก ความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลควรเร่งแก้ไขไตรมาส 4 โดยเร็ว ด้วยการเร่งแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน รวมถึงมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่แม้ว่ารัฐบาลจะได้ดำเนินการอยู่แต่ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้จึงจำเป็นต้องผลักดันมาตรการผ่อนคลายการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4 ปี 2563 นี้ด้วย

ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเข้ามาพำนักในประเทศไทยในระยะยาว อย่างไรก็ตามเมื่อได้มีการสอบถามถึงการเปิดให้ต่างชาติมาท่องเที่ยวในไทยเกินครึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามให้ข้อคิดเห็นว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาต้องมาจากพื้นที่ที่ปลอดจากโควิด ระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่ทางการแพทย์ยอมรับได้ และต้องมีการกักตัวในระยะสั้น และระยะเวลาการกักตัวนั้นขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงของประเทศ ทั้งนี้ ต้องมีการหารือในระดับท้องที่เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นให้ความยอมรับในการเปิดพื้นที่ และมีการจำกัดบริเวณการเดินทางให้อยู่เฉพาะภายในพื้นที่ เป็นต้น

นอกจากนี้จากการสอบถามถึงความเชื่อมั่นในการงทุนพบว่า ปัจจัยสำคัญสุดคือการ แก้ไขปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองและการประท้วงหากคลี่คลายได้จะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งให้ความสำคัญมากกว่าปัจจัยลำดับที่สองคือการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในคนได้อย่างสมบูรณ์ โดยนักธุรกิจที่ตอบการสำรวจคาดว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 9-12 เดือนที่จะทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น

สำหรับผลสำรวจไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 นักธุรกิจหอการค้าไทยจีนยังมีความเชื่อมั่นในธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจพืชผลทางการเกษตร บริการสุขภาพ โลจิสติกส์ และธุรกิจสินค้า เกษตรแปรรูปที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ในทางตรงกันข้าม ได้ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนในธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และภาคอุตสาหกรรมการผลิต

“การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีนเป็นการสำรวจความเห็น โดยวัดความรู้สึกจากผู้ประกอบการตัวจริง ที่มีประสบการณ์ธุรกิจมายาวนานมีความใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนจีน และชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งได้ดำเนินการเพื่อสานต่อจากอดีตประธาน โดยปรับปรับรูปแบบและการสำรวจความเห็นการตอบแบบสอบถามพร้อมกัน และบางส่วนเป็นการตอบแบบสอบถามผ่านระบบออนไลน์ประกอบด้วย 4 ส่วนได้แก่ 1. ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจไทย- จีน 2.ตัวชี้วัดภาวะเศรษฐกิจไทย 3.ตัวชี้วัดปัจจัยเกื้อหนุน และ 4 ประเด็นและ เหตุการณ์เฉพาะกิจ” ณรงค์ศักดิ์กล่าว