กรมอนามัย ชูนโยบายคุมกำเนิดฟรี พร้อมเสริมทักษะชีวิตวัยรุ่น ป้องกันการท้องไม่พร้อม

121

15 ปี คืออายุเฉลี่ยที่เด็กไทยมีเพศสัมพันธ์เป็นครั้งแรก ตัวเลขอาจดูน่าตกใจ แต่เมื่อนึกถึงจำนวนคุณแม่วัยใสที่เรารับรู้ผ่านข่าวสารหรือในชีวิตจริง ตัวเลขดังกล่าวก็ดูจะไม่เกินเลยไปนัก ทั้งยังอธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี คำถามสำคัญคือเราจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ได้บ้าง

สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะศูนย์กลางพัฒนาวิชาการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในหลายมิติ ทั้งด้วยการมอบบริการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันปัญหาอย่างตรงไปตรงมาและเห็นผลทันที และวิธีการที่อาจใช้เวลานานกว่าแต่จะได้ผลในระยะยาว อย่างการเสริมความรู้และทักษะการใช้ชีวิต เพื่อให้เด็กทุกคนได้รู้ว่าการคุมกำเนิดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการปกป้องและมอบความรักให้ตัวเองที่ทุกคนพึงมี

นายแพทย์มนัส รามเกียรติศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ทั้งต่อสุขภาพของเด็ก เศรษฐกิจ และสังคม เราจึงมียุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (พ.ศ.2560-2569) ที่มีเป้าหมายลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เหลือ 25:1,000 คน ในปีพ.ศ.2569 ซึ่งปัจจุบันอัตราล่าสุดอยู่ที่ 31.4:1,000 คน เราคงห้ามไม่ให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ เพราะเพศสัมพันธ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน สิ่งสำคัญจึงเป็นการชี้แนะให้มีเพศสัมพันธ์ช้าลง ด้วยการส่งเสริมให้เด็กเข้าถึงทักษะชีวิตในการดูแลตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องเพศศึกษาเท่านั้น แต่ให้รู้ว่าจะหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์อย่างไรถ้าตัวเองไม่พร้อมหรือไม่ต้องการ หลีกเลี่ยงการถูกล่วงละเมิด รู้จักการคุมกำเนิดที่เหมาะสม รู้ว่าเมื่อเกิดปัญหาจะต้องทำอย่างไร และสามารถรับรู้และเข้าถึงสิทธิและบริการต่างๆ ที่เราเตรียมให้ได้

ดังนั้น หนึ่งในนโยบายสำคัญด้านการคุมกำเนิดของกรมอนามัย คือ การร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มอบบริการการคุมกำเนิดชนิดกึ่งถาวรด้วยการฝังยาคุมกำเนิดและการใส่ห่วงอนามัยให้ฟรีสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีทุกกรณี และสำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 20 ปีขึ้นไปในกรณีหลังยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมทั้งการสนับสนุนค่าบริการการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยที่สถานบริการเครือข่ายของสปสช. ทั่วประเทศ การคุมกำเนิดประเภทกึ่งถาวรนี้ เป็นวิธีที่ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้ใช้เนื่องจากสามารถคุมกำเนิดได้ในระยะเวลานาน 3, 5 และ 10 ปี มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดมากถึง 99.5% และที่สำคัญ ควรใช้ควบคู่กับถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

แม้ภาครัฐจะมีบริการคุมกำเนิดฟรีสำหรับเด็กและเยาวชน แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ทราบถึงบริการดังกล่าว อีกทั้งเด็กหลายคนก็ไม่กล้าเข้าไปปรึกษาเรื่องการคุมกำเนิด เพราะกลัวถูกตัดสินด้วยสายตาของผู้ให้บริการและสังคมรอบข้างว่าเป็นเด็กไม่ดี จึงเป็นที่มาของความพยายามของกรมอนามัยในการวางรากฐานเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมต่อการคุมกำเนิดของเด็กและเยาวชน และการเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้เข้าถึงเด็กวัยรุ่นโดยตรงมากยิ่งขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและผ่านทางความร่วมมือของหลายภาคส่วน

เนื่องในโอกาสวันเยาวชนแห่งชาติ กรมอนามัยจึงได้เปิดตัว TEEN CLUB Official LINE Account เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านการคุมกำเนิดและเพศวิถีศึกษาสำหรับวัยรุ่น ตอบข้อสงสัยของวัยรุ่นในรูปแบบบทความและวิดีโอ เช็กสิทธิในการเข้ารับบริการด้านการคุมกำเนิด ค้นหาสถานบริการที่ให้บริการคุมกำเนิด พร้อมบริการสายด่วน 1663 และ Chat Bot เพื่อตอบคำถามวัยรุ่นโดยเฉพาะ สามารถแอดไลน์ TEEN CLUB ได้ที่ https://line.me/R/ti/p/@teen_club หรือค้นหาคำว่า @teen_club

นายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์ ประธานแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพสาขาสูติกรรม จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีการนำ Telemedicine มาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์มากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล TEEN CLUB ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือ Telemedicine ที่เข้ามาช่วยเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ดีกว่าการให้เด็กไปหาข้อมูลเองแล้วเจอข้อมูลผิดๆ หรือเป็นอันตราย ทั้งยังช่วยเพิ่มการเข้าถึงข้อมูลด้านการบริการและนโยบายต่างๆ ของภาครัฐ ในอนาคตเราอาจมีการเก็บข้อมูลผ่านระบบ Chat Bot ให้ AI ประมวลผลออกมาเป็นคำแนะนำเรื่องการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับเด็กได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติของทุกคน ทั้งผู้ให้บริการ คุณครู และพ่อแม่ ถ้ามองการวางแผนครอบครัวในทางบวกว่าการที่เด็กเข้ามาหาเราเพราะพวกเขาต้องการความช่วยเหลือ ผมคิดว่าการให้ความช่วยเหลือในด้านนี้จะเปลี่ยนไป และจะทำลายได้ทุกอุปสรรคที่มีอยู่

นายแพทย์มนัส รามเกียรติศักดิ์และนายแพทย์โอฬาริก มุสิกวงศ์

ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรที่นำไปสู่การท้องไม่พร้อมนั้นเกิดจากหลายปัจจัย และไม่ใช่ความผิดของเด็กเพียงอย่างเดียว การแก้ไขจึงต้องเกิดขึ้นในหลายระดับ ตั้งแต่ระดับนโยบายจนถึงระดับปัจเจก ดังนั้น หากย้อนไปที่คำถามข้างต้นว่าเราจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ได้บ้าง คำตอบอาจเป็นการมองสถานการณ์ตามความเป็นจริงและลบอคติออกไป เพื่อให้เด็กและเยาวชนกล้าเข้ารับคำปรึกษาที่ถูกต้องและปลอดภัย และจะได้ช่วยกันป้องกันหรือแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา