“ชิคุนกุนยา” อีกโรคที่มากับยุงลายในช่วงฤดูฝน

8

หลายคนคงเข้าใจกันว่า โรคยอดฮิตที่มักจะเป็นกันมากในช่วงฤดูฝนเป็นโรคไข้เลือดออก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกโรคที่ฮิตในหน้าฝนไม่แพ้กัน นั่นคือ “โรคชิคุนกุนยา” หรือ “โรคไข้ปวดข้อยุงลาย” ซึ่งมาจากพาหะเดียวกันได้แก่ยุงลาย

มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี ในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” โดยได้รับการเปิดเผยจาก แพทย์หญิงขวัญนุช ศรีกาลา กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ อุบลราชธานี เกี่ยวกับ “โรคชิคุนกุนยา” ความอันตรายของโรคนี้จะเป็นอย่างไรนั้น ในบทความนี้มีคำตอบ

พบโรคชิคุนกุนยาได้ในทุกช่วงอายุ
โรคชิคุนกุนยา หรือ โรคไข้ปวดข้อยุงลาย เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส Chikungunya Virus ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยจากข้อมูลของกรมควบคุมโรคพบว่า เพียงครึ่งปีแรกของปี 2563 พบผู้ป่วยเกือบ 2,000 รายเลยทีเดียว นอกจากนี้พื้นที่การแพร่ระบาดมีการขยายในวงกว้างมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ป่วยยังพบได้ในทุกช่วงอายุอีกด้วย โดยจะพบมากที่สุดในช่วงอายุ 25-34 ปี

อาการของโรคชิคุนกุนยา
มีไข้สูงอย่างฉับพลัน อ่อนเพลีย ปวดหัว ข้ออักเสบ ปวดตามข้อมือ ข้อเท้า ข้อต่อแขนขา โดยจะปวดไล่ไปเรื่อย เปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อย ข้อต่อบวม เข่าและข้อต่อไม่มีแรง จนไม่สามารถขยับได้ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ คันหรือมีผื่นขึ้นตามตัว ตาแดง
หากพบว่า มีอาการข้างต้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยห้ามทานยาลดไข้แอสไพริน (Aspirin) เป็นอันขาด เนื่องจากจะทำให้เลือดออกง่ายขึ้น

อาการที่แตกต่างจากโรคไข้เลือดออก
แม้ว่าจะเป็นโรคที่ติดต่อจากยุงลายเหมือนกัน มีความรุนแรงเหมือนกัน และอาจมีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออกบ้าง แต่จะมีบางอาการที่พบได้เฉพาะในโรคชิคุนกุนยาเท่านั้น และจะไม่อันตรายเท่าโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้
● โรคชิคุนกุนยาจะไม่มีเกร็ดเลือดต่ำจนมีเลือดออกรุนแรงอย่างโรคไข้เลือดออก
● โรคชิคุนกุนยาจะไม่มีผนังเส้นเลือดฝอยผิดปกติจนทำให้มีน้ำเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือด ซึ่งทำให้ความดันโลหิตต่ำ จนผู้ป่วยเกิดอาการช็อค อย่างโรคไข้เลือดออก
● แม้ว่าโรคชิคุนกุนยาจะถือว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรง แต่โรคนี้ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างโรคไข้เลือดออก แต่อย่างไรก็ตามโรคนี้ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดตามข้อทรมาน ซึ่งอาจปวดนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็มี

หากรู้ทันโรคสามารถป้องกันได้
โรคชิคุนกุนยายังไม่มีการรักษาที่จำเพาะ การรักษาจึงทำได้แค่รักษาตามอาการ เพื่อลดอาการของผู้ป่วย เช่น การใช้ยาลดไข้หรือยาแก้ปวด เช็ดตัว พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้เพียงพอ และป้องกันไม่ให้ยุงกัด เป็นต้น เพราะฉะนั้นการป้องกันจึงสำคัญที่สุด ซึ่งเราสามารถป้องกันได้โดย
● เก็บบ้านให้ปลอดโปร่ง
● เก็บขยะ
● ปิดแหล่งน้ำให้มิดชิดไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายตัวร้ายที่เป็นพาหะของโรค
● ใช้ยาทากันยุงบนผิวหนังหรือบนเสื้อผ้า
● ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หรือเสื้อผ้าที่ไม่เปิดเผยผิวหนัง

แพทย์หญิงขวัญนุช ศรีกาลา

หลายโรคที่ต้องเฝ้าระวังในหน้าฝน ดังนั้น ควรหมั่นดูแลและรักษาสุขภาพ ตามข้อปฏิบัติดังกล่าวที่เราแนะนำไว้ข้างต้น รวมทั้งหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพอื่น ๆ สามารถขอคำปรึกษาจาก ทีมแพทย์โรงพยาบาลในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด