ยังคงมีข่าวคราวออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากแวดวงคนรู้จัก หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง กับภาวะที่ซ่อนอยู่ภายใน ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ตัว นั่นคือภาวะหัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
ข้อมูลจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ระบุถึง สาเหตุการเกิดหัวใจวายหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ว่าโรคนี้เกิดจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน ซึ่งลิ่มเลือดเหล่านี้เกิดจากการที่ร่างกายมีภาวะไขมันมากเกินไปจนพอกเป็นตะกรัน (plaque) เกาะอยู่ตามผนังของหลอดเลือด เมื่อรวมเข้ากับเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มากัดกินก็ทำให้เกิดเป็นกลุ่มเซลล์ที่ไม่สามารถดูดกลับเข้าไปในร่างกายได้ แต่กลับฝังตัวอยู่ในผนังหลอดเลือดแทน เมื่อเวลาผ่านไป ตะกรันนี้จะแตกตัวหรือปริออก หลอดเลือดจะพยายามซ่อมแซมตัวเอง จนเกิดลิ่มเลือดไปอุดกั้นหลอดเลือด ถ้าเป็นการแตกตัวที่หลอดเลือดแขนงเล็ก ผู้ป่วยจะมีเพียงอาการเจ็บหน้าอก แต่ถ้าลิ่มเลือดนี้อุดตันหลอดเลือดขนาดใหญ่ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน (หัวใจวาย) ประกอบด้วย
- ความดันโลหิตสูง
- ไขมันในเลือดสูง
- เบาหวาน
- การสูบบุหรี่
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคอ้วน
โรคนี้มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน บางรายอาจมีสุขภาพปกติแข็งแรงดี แต่อยู่ๆ ก็มีอาการผิดปกติ อาการผิดปกติที่สำคัญที่สุดที่สามารถสังเกตได้ เช่น เจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมากดทับอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตรงกลางอก และเป็นนานเกินกว่าหนึ่งนาทีขึ้นไป เจ็บแน่นหน้าอกร้าวไปยังบริเวณคอ กราม ไหล่และแขนทั้งสองข้าง มีเหงื่อออกตามร่างกายเหนื่อยง่าย หายใจถี่กระชั้น วิงเวียน หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว สัญญาณเหล่านี้คืออาการแจ้งเตือนว่าต้องไปพบแพทย์
นอกจากการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อติดตามการทำงานของหัวใจแล้ว การป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจ สามารถทำได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร กล่าวคือ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและแคลอรีสูง อาหารเค็มจัด อาหารจานด่วนหรืออาหารสำเร็จรูป ลดเครื่องดื่มที่ผสมน้ำตาล เน้นการบริโภคผักและผลไม้ให้มากขึ้น รวมทั้งการหยุดสูบบุหรี่
ความเครียด เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจได้ เราทราบดีว่า การหลีกเลี่ยงความเครียดเป็นเรื่องยาก นอกจากจะหาเพื่อนหรือคนใกล้ชิดไว้คอยปรึกษาและระบายออกไปบ้างแล้ว ต้องยอมรับกับความเครียดที่เกิดขึ้นให้ได้ แล้วค่อยๆสร้างวิธีรับมือด้วยการปล่อยวาง ให้คิดอยู่เสมอว่า เครียดไปก็เท่านั้น แถมยังเป็นบ่อเกิดของโรคร้ายอีกหลายโรคด้วย หรือไม่ก็หันไปหากิจกรรมคลายเครียดอื่นๆ ที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น การออกกำลังกาย ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีของโรคภัยต่างๆ
ชีวิตของผู้คนที่ต้องทำงานหน้าจอหรือคร่ำเคร่งอยู่ที่เดียวเดิมๆ เป็นเวลานานๆ หรือที่เรียกว่า ไลฟ์สไตล์แบบนั่งอยู่กับที่ (Sedentary lifestyle) อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การออกกำลังกายจึงจำเป็นต่อร่างกายของเรา เพราะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล ควบคุมน้ำหนักตัว และยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
นอกจากนั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะมีส่วนทำให้ปริมาณไขมัน (ไตรกลีเซอไรด์) ในเลือดมีระดับสูง และอาจจะทำลายกล้ามเนื้อหัวใจของท่านด้วย จึงเป็นการลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
ความอ้วนหรือน้ำหนักตัวมากเกินไป หัวใจก็จะทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งโลหิต ออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย หากเทียบการทำกิจกรรมประเภทเดียวกัน หัวใจของคนที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำงานหนักมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ การลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารสามารถช่วยให้เราควบคุมความเสี่ยงต่อโรคอื่นได้อีกด้วย
นี่เป็นเพียงแนวทางการป้องกัน สำหรับผู้ที่มีอาการผิดปกติดังที่กล่าวไปข้างต้น ก็จำเป็นต้องไปพบแพทย์ และเข้าระบบการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจถึงหัวใจของตัวเอง ก่อนที่จะสายเกินไป
ขอขอบคุณข้อมูลจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ https://www.bumrungrad.com